หนี้เน่าพุ่งพรวด ผวาศก.ฟื้นช้า

24 เม.ย. 2560 | 04:41 น.
เอ็นพีแอลแบงก์ไตรมาสแรกพุ่ง 5.2% แตะ 3.88 แสนล้านบาท กระจายทุกภาคทั้งรายใหญ่ ที่อยู่อาศัย และเอสเอ็มอี ลางร้ายเศรษฐกิจฟื้นไม่เต็มที่ ขณะที่แบงก์กวาดกำไร 5.2 หมื่นล้านบาท โต 6.6%

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง รายงานผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 1 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2560 มีกำไรรวม 52,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.68% ที่มีกำไรรวม 49,012 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำกำไรมากที่สุด 11,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.95% ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกำไรลดลงถึง 63%

กำไรของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยโดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4% นอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นและการลดรายจ่าย

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) งวด 3 เดือนแรกของปีนี้ มียอดคงค้าง 388,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดไตรมาส 4/2559 จำนวน 369,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.23% โดยธนคารกรุงเทพมีเอ็นพีแอลเพิ่มมากที่สุด 12.97% จำนวน 77,772 ล้านบาท เนื่องจากฟื้นตัวช้า กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ แต่ธนาคารยังเน้นการดูแลคุณภาพสินเชื่อและตั้งสำรองต่อเนื่อง

ไทยพาณิชย์รายงานเอ็นพีแอลไตรมาส 1 ปี 2560 อยู่ที่ 59,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.2% เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มสินเชื่อบ้านและเอสเอ็มอี ส่วนธนาคารกสิกรไทยที่รายงานเอ็นพีแอลคงค้าง 65,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากงวดไตรมาส 4/2559 ที่มีจำนวน 65,087 ล้านบาทแต่ธนาคารได้สำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนของภาวะและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งสำรองเพิ่ม 3,000 ล้านบาทเป็น 5,000 ล้านบาทกสิกรไทยตั้งเพิ่ม 2,300 ล้านบาท เป็น 9,100 ล้านบาทและ ธนาคารกรุงเทพตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 2,200 ล้านบาท เป็น 5,800 ล้านบาท เหตุผลในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นกำไรที่ดีพอจะรองรับได้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังดีขึ้นก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้

[caption id="attachment_143037" align="aligncenter" width="450"] ปริญญา พัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย ปริญญา พัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย[/caption]

กรุงไทยรับหนี้เสียข้าวเพิ่ม
นายปริญญา พัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอ็นพีแอลของธนาคารที่เพิ่มขึ้นไตรมาสแรกปีนี้กว่า 9 พันล้านบาท มาจากลูกค้า 3 ส่วนคือ สินเชื่อบ้าน เอสเอ็มอี และสินเชื่อข้าว ซึ่งธนาคารกำลังเร่งมือในการปรับโครงสร้างหนี้

“ไตรมาสนี้หนี้เสียเพิ่มขึ้นทุกธนาคาร ส่วนรายใหญ่ไม่ใช่เคซี พร็อพเพอร์ตี้ แต่เป็นรายที่อยู่ในขั้นตอนการจัดการ เวลาอาจจะไม่ตรงกับงวดที่ต้องรายงาน ไม่น่าจะมีปัญหา”

ธนาคารกรุงไทย มียอดปล่อยกู้ให้กับกลุ่มโรงสีประมาณ 7 หมื่นล้านบาท คาดว่าพอร์ตจะมากกว่า 50% ของสินเชื่อโรงสีทั้งระบบ

 โบรกชี้กำไรต่ำคาด
นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส วิเคราะห์ภาพรวมผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบในงวดไตรมาส 1/2560เทียบไตรมาส 4 /2559 เติบโตเพียง 2% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไส้ที่ 5% กำไรที่เพิ่มขึ้น มาจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง ขณะที่รายได้ทรงตัว ยอดปล่อยสินเชื่อไม่เติบโต ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียม

ขณะเดียวกันธนาคารบางแห่งมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเกินคาดการณ์ ปกติเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น มาจากลูกค้าใหม่ กับหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมามีปัญหา ซึ่งงวดนี้ประเด็นลูกค้าใหม่ไม่มาก แต่เกิดจากหนี้เดิมเช่น ในส่วนของธนาคารกรุงไทย ที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นกว่า 9,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นหนี้ของเกษตกร เนื่องจากราคาข้าวยังไม่เพิ่มขึ้น

ส่วนของธนาคารกรุงเทพที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท เกิดจากลูกค้าในธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตามเอ็นพีแอลโดยรวมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3% ของสินเชื่อทั้งรวมยังไม่น่ากังวล เพราะขยับขึ้นมาเล็กน้อยจาก 2% เศษ ไม่ใช่มีสัดส่วนถึง 40-50% เหมือนตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

“เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นงวดไตรมาส 1/2560 สะท้อนว่าตัวเลขยังไม่ถึงระดับต่ำสุดและเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว และเป็นปกติของธุรกิจธนาคารที่ช่วงนี้ ลูกค้ายังไม่เบิกใช้สินเชื่อไม่มีการลงทุนเพิ่ม รวมถึงมีการเร่งออกหุ้นกู้ ในช่วงปลายของดอกเบี้ยขาลง”

นอกจากนั้นภาครัฐมีการคืนเงินกู้กลับธนาคารกรุงไทย ภาพรวมของผลการดำเนินงานแบงก์จะต้องติดตามดูอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยขณะนี้ยังไม่มีการปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายของหุ้นแบงก์

นางสาวอุษณีย์ กล่าวว่า ราคหุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลงแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้มามาก จึงมีแรงขายทำกำไร และนับเป็นเรื่องที่ดี ราคาลงมาต่ำใกล้เป้าหมายที่คาดไว้ ทยอยเป็นจังหวะซื้อ แนะนำให้ซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทยและไทยพาณิชย์ ส่วนกรุงไทย ราคายังเต็มมูลค่าแล้ว

กระทบธุรกิจบริโภค
นางณัฐรา ลีนะวัต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต กล่าวว่า การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งอาจส่งสัญญาณบ่งบอกวาสิ่งที่ตลาดคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว อาจต้องยืดเวลาออกไปอีก รวมทั้งอาจกระทบไปยังภาคธุรกิจอื่น เช่นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค จึงต้องไปดูว่าธุรกิจไหนจะได้รับผลกระทบอีกบ้าง

"ผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ที่ออกมาไม่ถือวาช็อค แต่ทำให้นักลงทุนอาจตื่นตัวมากขึ้น เพราะจากเดิมคาดว่าหนี้เสียน่าจะผ่านจุดพีคไปตั้งแต่ปีก่อนแล้ว แต่หากดูรายธนาคารก็ยังทำได้ตามเป้า แต่บางแห่งก็ต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งคงต้องกลับมาดูธนาคารแต่ละแห่งว่ามีการตั้งสำรองอย่างไรบ้างและจะเพียงพอหรือไม่ เพราะธนาคารบางแห่งมีการตั้งสำรองจำนวนมากในครึ่งปีแรกทีเดียว หรือบางแห่งตั้งมากในครึ่งปีหลังหรือบางแห่งถัวเฉลี่ยทั้งปี"นางณัฐรา กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ในตอนนี้ กองทุนอาจต้องปรับพอร์ตทำกำไรในหุ้นบางตัว

[caption id="attachment_143041" align="aligncenter" width="247"] หนี้เน่าพุ่งพรวด ผวาศก.ฟื้นช้า หนี้เน่าพุ่งพรวด ผวาศก.ฟื้นช้า[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560