สิงห์รถบรรทุก 2 แสนรายอ่วม เจอผลกระทบ 3 เด้ง

24 เม.ย. 2560 | 07:47 น.
รถบรรทุกสินค้ากว่า 2 แสนรายระส่ำ เจอผลกระทบ 3 เด้ง แลกเปลี่ยนรถในอนุภูมิภาคลุ่มแม่โขงประเทศละ 500 คัน ไทยยังไม่พร้อม ไม่มีโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ขณะที่ต่างชาติแห่บุกไทยหลังรัฐเปิดช่องถือหุ้นได้70% จับตา"อาลีบาบา"จ้องเปิดศูนย์กระจายสินค้าจากจังหวัดไปสู่หมู่บ้าน รถบรรทุกไทยไม่ปรับตัวหนีความเสี่ยง โอกาสรอดยาก

นับจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งมี มีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ มีบทบาทจากการรวมกำลังซื้อกว่า600 ล้านคนเป็นตลาดเดียว ทำให้ประเทศไทยยืนอยู่ในจุดที่ได้เปรียบในแง่ทำเลภูมิศาสตร์การเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เป็นที่หมายตาของทุนข้ามชาติในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเปิดช่องให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระทบถึงผู้ให้บริการรถบรรทุกสินค้า

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์รถบรรทุกแห่งอาเซียน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ประเภทรถบรรทุกขนส่งสินค้าทางบกที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 2 แสนรายโดยครอบครองรถบรรทุกทั่วประเทศมากกว่า 3 แสนคัน กำลังได้รับผลกระทบ เนื่องจากในจำนวนนี้กว่า 90% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหา 3 ส่วน เริ่มตั้งแต่ที่ปีนี้จะเกิดผลในทางปฏิบัติตามโครงการแลกเปลี่ยนรถบรรทุกสินค้า เช่น รถบรรทุก18ล้อ รถหัวลาก ตามกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่โขง (จีเอ็มเอส) 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนรถบรรทุกเกิดขึ้นประเทศละ500 คัน สามารถวิ่งข้ามแดนได้ ระหว่างกันเพื่อเชื่อมต่อการค้าขาย

จากกรอบความตกลงดังกล่าวเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประเทศไทยไม่พร้อม โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะยังไม่มีศักยภาพขนส่งสินค้าข้ามแดนได้ เนื่องจากเครือข่ายไม่เชื่อมโยงกับบางประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นสปป.ลาวกับกัมพูชา ในขณะที่เวียดนาม จีน ที่ฝ่ายไทยไม่รู้ภาษา

"การมีเครือข่าย หมายถึง บริษัทข้ามชาติจะมีสาขาในแต่ละประเทศโดยใช้สาขานั้นๆดำเนินการรถข้ามได้ทุกประเทศ ยกตัวอย่างเช่นรถจากไทยไปยังกัมพูชา คนกัมพูชาขับรถไปปลายทางอีกประเทศด้วยรถคันเดิม ซึ่งไทยไม่มีเครือข่ายในแต่ละประเทศ และปรับตัวไม่ทันก็กระทบ รับแค่บทบาทเพียงผู้รับช่วงงานต่อเฉพาะในประเทศเท่านั้น ในขณะที่คู่แข่งรถบรรทุกจากประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามาทำการค้าผ่านไทยมากขึ้นนับจากปีนี้เป็นต้นไป"

นอกจากนี้หลังจากไทยทยอยเปิดเสรีในกลุ่มสาขาบริการโลจิสติกส์เป็นไปตามข้อตกลงการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จนถึงปัจจุบันเปิดเสรีไปแล้ว 11 สาขา ทั้ง 11 สาขาดังกล่าว และก่อนหน้านี้รัฐเปิดช่องให้ขยายสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติจากไม่เกิน 49 % เป็นไม่เกิน 70 % ทำให้ทุนต่างชาติเดินสายเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อีกทั้งการเข้ามาของอาลีบาบาที่ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนรูปแบบ ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะจะเกิดผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอุตสาหกรรม โดยเด็กรุ่นใหม่ค้าขายผ่านออนไลน์เชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์โดยเฉพาะกลุ่มรถบรรทุกต้องปรับตัว วางระบบขนส่งให้เร็วขึ้นโดยหันไปจับรถบรรทุกขนาดเล็กให้บริการขนส่งด่วนมากขึ้น และด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกขึ้นต่อไปสินค้าอุตสาหกรรมจะขนส่งโดยรถไฟมากขึ้นรถบรรทุกก็จะลดปริมาณลงในที่สุด

"เวลานี้ไม่อยากให้รัฐบาลเร่งรีบมากกับการมาของอาลีบาบา เพราะการที่อาลีบาบาไปมาเลเซียก่อน เพราะต้องการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาลไทย ดังนั้นรัฐอย่าเพิ่งไปเปิดกว้างในการออกกฏหมายอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้กับอาลีบาบา และเวลานี้หัวใจสำคัญในการทำการค้าทางออนไลน์อยู่ที่โลจิสติกส์แต่รัฐยังไม่เข้าใจระบบโลจิสติกส์เพื่อมารองรับการค้าออนไลน์ ทำไมรัฐไม่เอาระบบขนส่งที่เรามีอยู่ไปเชื่อมกับการค้าออนไลน์เอง โดยใช้เครือข่ายของผู้ประกอบการโลจิสติก์ที่เป็นเอสเอ็มอี ไม่ใช่ให้ทุนข้ามชาติกินรวบหมด"

สอดคล้องกับที่นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ คณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ในคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม และบริการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด หรือEBCI เปิดเผยว่า การที่อาลีบาบาเข้ามานั้นดีในแง่สินค้าไทยจะเข้าไปอยู่ในระบบออนไลน์ได้มากขึ้น สินค้าที่ขายมีต้นทุนไม่สูงแต่ที่น่าเป็นห่วงสินค้าจากจีนจะเข้ามาถล่มตลาดไทยมากขึ้น ไทยจะขาดดุลการค้าในระบบออนไลน์มากขึ้น และที่สำคัญต่อไปอาลีบาบาจะเข้ามาตั้งศูนย์การค้าในไทย และมีแนวโน้มที่ศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบาจะขยายพื้นที่จากจังหวัดไปสู่หมู่บ้านทำให้สินค้าจีนเข้าถึงหมู่บ้านมากขึ้นในขณะที่สินค้าไทยอาจจะขายไม่ได้เพราะไม่ได้พัฒนาได้ตรงกับความต้องการของตลาด เมื่ออาลีบาบาเข้าถึงหมู่บ้านได้ รถบรรทุกก็อาจลดจำนวนลง ยิ่งถ้ารายใดไม่ปรับตัวโอกาสรอดก็ยาก

ด้านนายอมฤทธิ์ ปั้นศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กเซล ทรานสปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ได้ไปขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาล แต่รัฐควรจะมองว่าจะวางระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยอย่างไรเพื่อที่ผู้ประกอบการที่มีอยู่แล้วอยู่ได้ด้วย ในระดับนโยบายจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ประกอบการระดับเอเซียได้อย่างไร

"ขณะนี้การค้าสร้างกระแสใหม่คือการค้าบนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการขนส่งเพื่อการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ของไทยมีแต่รายเล็กๆ แต่ที่สำคัญมากคือรายใหญ่เป็นหน้าต่างของประเทศว่าสินค้าในประเทศมีอะไรบ้าง และรัฐบาลควรจะมองอย่างไรให้ผู้ประกอบการายใหญ่มาช่วยดูแลโลจิสติกส์ที่เป็นเอสเอ็มอีในประเทศได้ "

อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องดูว่าการที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นทำอย่างไรต้นทุนเขาจะใกล้เคียงกับไทย ยกตัวอย่างเช่นอาลีบาบา จดทะเบียนนิติบุคคลในจีน ดังนั้นนิติบุคคลในจีนและในไทยภาษีจะไม่เท่ากัน ดังนั้นจะต้องดูเรื่องโครงสร้างภาษี ดูเพื่อให้ต้นทุนแข่งขันได้ เพราะเวลานี้เราก็มีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พอเราไปส่งเสริม ก็ต้องดูว่าเราได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต้นทุนทางภาษีหรือไม่ ถ้าต้นทุนทางภาษีเราสูงกว่าก็จะแข่งขันไม่ได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560