บี.กริม เพาเวอร์ เตรียมเปิดเดินเครื่อง 2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวกลางปีนี้

21 เม.ย. 2560 | 08:39 น.
บี.กริม เพาเวอร์ ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนของไทยสนองนโยบายผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เผยแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว 8 โครงการ ขนาดกำลังผลิตรวม 102.6 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเปิดเดินเครื่องให้บริการบางส่วนในกลางปีนี้ 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซน้ำน้อย 2 และเซกะตำ 1 ในแขวงจำปาสัก ด้วยงบลงทุน 1,750 ล้านบาท ที่เหลืออีก 6 โครงการ อยู่ในระหว่างการพัฒนาคาดว่าจะทยอยสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ครบทั้ง 8 โครงการในปี 2562 มั่นใจพร้อมเดินหน้าพัฒนาไฟฟ้าในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนตามแผนที่วางไว้

 

[caption id="attachment_142876" align="aligncenter" width="503"] นางปรียนาถ สุนทรวาทะ นางปรียนาถ สุนทรวาทะ[/caption]

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศลาวมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องด้วยประเทศลาวมีแหล่งพลังน้ำซึ่งมีปริมาณมหาศาลอันมีที่มาจากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และเป็นแหล่งพลังงานราคาถูก ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลลาว ได้กำหนดให้กิจการไฟฟ้าที่ใช้งานจากแหล่งพลังน้ำที่มีอยู่ในประเทศนี้เป็นเครื่องมือพัฒนามาตรฐานการครองชีพของประชาชนลาว อันหมายถึง การสนับสนุนให้มีการเพิ่มรายได้จากการผลิตและส่งออกไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อสามารถหาทุนกลับมาพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าในประเทศได้ ทั้งนี้เพราะกำลังผลิตที่มีอยู่ในประเทศสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ จะเห็นได้จากปี 2557 กำลังผลิตฟ้ารวมมีมากกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่743 เมกะวัตต์

แม้ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่อย่างไรก็ตามตลาดภายในประเทศยังคงต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะส่งออกมายังประเทศไทย โดยตัวแปรผลักดันที่สำคัญต่อการเติบโตในกิจการไฟฟ้าของประเทศลาว คือ การเติบโตของจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าและการพัฒนาระบบโดยรวม ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศที่มาจากเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการจะค่อนข้างมีข้อจำกัดทางการเติบโตของไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ ดังนั้นบริษัทฯ จึงมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่ใน สปป.ลาว โดยได้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำอายุสัมปทาน 25 ปี จำนวน 8 โครงการ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ แขวงจำปาสัก แขวงไซสมบูน และแขวงเชียงขวาง ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่เหมาะแก่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river hydroelectric generation plant)  จึงไม่จำเป็นต้องมีอ่างเก็บน้ำเนื่องจากกระบวนการผลิตจะใช้น้ำที่ไหลอยู่ในแม่น้ำตามธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในการผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 8 โครงการจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 102.6 เมกะวัตต์ ซึ่งเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปลายเดือนมิถุนายน 2560 จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 20.1 เมกะวัตต์ ได้แก่ เซน้ำน้อย 2 (6.7 เมกะวัตต์) และเซกะตำ 1 (13.4 เมกะวัตต์) นอกจากนี้ยังมีอีก  6 โครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ น้ำแจ 1 (15 เมกะวัตต์)  น้ำคาว 1 (15 เมกะวัตต์) น้ำคาว 2 (15 เมกะวัตต์) น้ำคาว 3 (15 เมกะวัตต์) น้ำคาว 4 (15 เมกะวัตต์) และน้ำคาว 5 (7.5 เมกะวัตต์)

xxhp pipe work 01 นางปรียนาถ กล่าวต่อไปว่า “ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซน้ำน้อย 2 และเซกะตำ 1 ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 นี้ ดำเนินการโดยบริษัท บริษัท เขื่อนไฟฟ้าเซน้ำน้อยและเซกะตำ จำกัด โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ลาว) จำกัด และบริษัท เอสวี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทวิศวกรรมชั้นนำในประเทศลาวและมีประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการชลประทาน โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงนี้มีกำลังการผลิตรวม 20.1 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าเชื่อมต่อกัน ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก ใช้งบประมาณสำหรับพัฒนาโครงการเป็นจำนวนเงิน 1,750 ล้านบาท เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้กังหันพลังน้ำแนวนอนชนิดฟรานซิส 3 เครื่อง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง โดยคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าขายได้ประมาณปีละ120 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง”

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใน สปป.ลาว บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นเวลา 25 ปี กับ       การไฟฟ้าประเทศลาว (Electricité du Laos: EDL) ผ่านโครงข่ายสำหรับการจ่ายไฟฟ้าผ่านทางสายส่งไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ ซึ่งการไฟฟ้าประเทศลาวเป็นเจ้าของสายส่งไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงทุนสร้างสายส่งไฟฟ้าเหล่านี้เองทั้งหมด โดยออกแบบและก่อสร้างระบบเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเชื่อมเข้ากับระบบของการไฟฟ้าประเทศลาว

นางปรียนาถ กล่าวต่อไปว่า “การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญของบริษัทฯ ที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในเชิงธุรกิจให้กับ บี.กริม เพาเวอร์ สามารถเติบโตและพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเมื่อนับตามกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่เปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วนอกจากนี้  ยังเป็นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยสำหรับปี 2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของแผนฯ ดังกล่าว ที่จะผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.0 ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศภายในปี 2579 รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้กับประเทศ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ ด้วย”

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ได้เปิดดำเนินการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วรวมทั้งสิ้น 28 โรง โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,626 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำ 350 ตันต่อชั่วโมง แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 12 โรง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 15 โรง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 โรง ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งหมดตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้น้ำมันดีเซล        เป็นเชื้อเพลิง1 โรง โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 13.0 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (เบียนหัว) เวียดนาม โดยในปัจจุบันบริษัทฯ มีลูกค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 300 ราย

“ภายในปี 2564 บริษัทฯ คาดว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2,356.9 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2,111.1 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 114.2 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 102.6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 16.0 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง 13.0 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำรวม 500.0 ตันต่อชั่วโมง โดยได้ทำการศึกษาวิจัยและพิจารณาที่จะลงทุนเพิ่มเติมในประเทศที่มีศักยภาพครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตบริษัทฯ จะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศโดยใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 10% เป็น 25-30% ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งตนเองมั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน” นางปรียนาถ กล่าว