ไทยและรัสเซียเดินหน้าผลักดันมูลค่าการค้าเพิ่ม 5 เท่าภายในปี 63

21 เม.ย. 2560 | 06:53 น.
ไทยและรัสเซียประสบความสำเร็จในการประชุมหารือยกระดับควาามสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ลดอุปสรรค ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน  เพื่อบรรลุเป้าหมายการขยายมูลค่าการค้า    5 เท่าภายใน 5 ปี หรือ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 ตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ตั้งไว้ในโอกาสการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยและรัสเซียได้เห็นพ้องกันว่าจะต้องเร่งขยายการค้าและการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ตามที่ผู้นำตั้งเป้าไว้ผ่านการดำเนินงานต่างๆ เช่น เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบรับรองโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์และประมงของไทยที่จะส่งออกไปรัสเซียให้เป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ชักช้า เพิ่มการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจของทั้งสองฝ่าย โดยไทยมีแผนจะจัดคณะธุรกิจเยือนกรุงมอสโก ในเดือนมิถุนายน 2560 และเมืองวลาดิวอสต็อก ในเดือนกันยายน 2560 เพิ่มความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ระหว่างท่าเรือวลาดิวอสต็อกซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญและมีศักยภาพของรัสเซียกับท่าเรือแหลมฉบังของไทย ตลอดจนเพิ่มช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางการเงินในการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างสองประเทศ เป็นต้น

ไทยยังได้ใช้โอกาสนี้เสนอที่จะสนับสนุนนโยบายความมั่นคงทางอาหารของรัสเซีย โดยไทยพร้อมส่งออกสินค้าอาหารและเกษตร เช่น ข้าว น้ำตาล อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ ผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น    ให้รัสเซีย ตลอดจนพร้อมส่งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เครื่องประดับยนต์ ยางรถยนต์และยางธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของรัสเซียในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ของกลุ่มประเทศ CIS (Commonwealth of Independent State : CIS) รวมทั้งการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีคุณภาพและได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดรัสเซีย

ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยยังได้บรรยายสรุปและเชิญชวนให้นักธุรกิจของรัสเซียมาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยที่มุ่งสร้างให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ       ที่ทันสมัยของอาเซียน โดยไทยจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขต EEC ดังกล่าว อาทิ ทางถนน ทางราง     ทางเรือ และทางอากาศ  แผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และแผนการพัฒนาเมืองใหม่ พร้อมทั้งมีมาตรการดึงดูดการลงทุนที่รัฐบาลพร้อมให้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง จึงได้เชิญชวนรัสเซียเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัลด้านซอฟแวร์ อากาศยาน เครื่องจักร เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์ขั้นสูง และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่จะพัฒนา พร้อมทั้งเน้นย้ำจุดแข็งของไทยที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางภูมิภาคอาเซียน และเป็นประตูไปสู่ประเทศในอาเซียนและเอเชีย ซึ่งรัสเซียสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและเป็นแหล่งวัตถุดิบ นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญชวน นักธุรกิจรัสเซียเข้ามาลงทุนในโครงการ Rubber City อีกด้วย ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนใน EEC ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และ     การลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโลจิสติกส์ ซึ่งรวมถึงการเริ่มกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union :EAEU ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐเบลารุส สาธารณอาร์เมเนียและสาธารณรัฐคีร์กีซ      มีประชากรกว่า 180 ล้านคน มูลค่า GDP ถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ)

ไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน โดยในปี 2017 นี้ ยังเป็นปีครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย ปัจจุบัน รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 33 ของไทยแต่เป็นคู่ค้าอันดับแรกในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) โดยรัสเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ของภูมิภาคด้วยประชากรกว่า 142 ล้านคน มั่งคั่งด้วยแหล่งพลังงาน (น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปี 2559 การค้าไทย-รัสเซียมีมูลค่า 1,964 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปรัสเซีย ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น ในขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้า ได้แก่ น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เหล็กและผลิตภัณฑ์ ถ่านหิน เป็นต้น สำหรับนักธุรกิจที่ร่วมกิจกรรมดังกล่าวสามารถ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์