อสังหาฯ รายใหม่ สร้างจุดแข็งรุกธุรกิจในภาวะแข่งขันสูง

25 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
ทุกท่านคงคุ้นกับวลีที่ว่าธุรกิจย่อมมีคลื่นลูกใหม่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เราเห็นคลื่นลูกใหม่เข้ามามีบทบาท และทำได้ดีในหลายๆ โครงการ ทำให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่และกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้กันอย่างคึกคัก

แม้ทุกครั้งเมื่อมีเหตุวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ทุกฝ่ายจับตามองว่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลงหรือไม่ แต่เหตุใดธุรกิจที่มีความเสี่ยงและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างสูง จึงยังเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยม มีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันในตลาดเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และยังกลายมาเป็นธุรกิจในฝันของทายาทนักธุรกิจรุ่นใหม่ในปัจจุบันอีกด้วย

[caption id="attachment_142705" align="aligncenter" width="451"] อสังหาฯ รายใหม่ สร้างจุดแข็งรุกธุรกิจในภาวะแข่งขันสูง อสังหาฯ รายใหม่ สร้างจุดแข็งรุกธุรกิจในภาวะแข่งขันสูง[/caption]

จากประสบการณ์ด้านการขายอสังหาริมทรัพย์สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ทำไมการเข้ามาเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงกลายมาเป็นเทรนด์ที่ทายาทนักธุรกิจและนักธุรกิจรุ่นใหม่ใฝ่ฝัน แซงธุรกิจอื่นๆ ที่เคยเป็นเป้าหมาย เช่น รับช่วงสานต่อธุรกิจโรงแรม เจ้าของร้านกาแฟ หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเหตุผลหลักคืออสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประสบความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ในช่วง 3-5 ปี ได้พิสูจน์ฝีมือให้รุ่นพ่อแม่ได้เห็นในความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาโครงการใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น อพาร์ตเมนต์หรือโรงแรม ได้อีกด้วย นอกจากนี้การเติบโตอย่างรวดเร็วของอสังหาริมทรัพย์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จูงใจให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่รุกเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีทุนขนาดใหญ่จากธุรกิจเดิม และมีที่ดินสะสมไว้เป็นจำนวนมาก เราจึงได้เห็น Business Collaboration Course ต่างๆ ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะการเข้าไปสมัครเรียนหลักสูตรต่างๆ ไม่เพียงแต่ได้ความรู้ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการจับคู่ธุรกิจของบรรดาทายาทธุรกิจด้วยกัน

หนึ่งความลับของบรรดานักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เป็นกุญแจสำคัญให้ประสบความสำเร็จคือ “การเข้าถึงข้อมูล” ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไม่เพียงมีความพร้อมทั้งด้านความรู้ เงินทุน แต่ยังให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลเพื่อมาวางแผนธุรกิจ ทั้งการวิเคราะห์ทำเล กำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้า การออกแบบตัวอาคาร และขนาดห้อง พร้อมทั้งกลยุทธ์ในการขาย ล้วนมีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและลงลึก ซึ่งหากใครมีข้อมูลที่แน่นกว่านั่นก็ย่อมทำให้เกิดความกล้าที่จะพัฒนาสินค้าที่แตกต่างแต่โดนใจผู้บริโภคออกมาสู่ท้องตลาดได้ก่อนใคร ไม่เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ยังเรียนรู้ที่จะดึงผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเติมเต็มมุมมองและประสบการณ์ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารการขายที่อยู่ในตลาดมายาวนาน เพราะถือเป็นแหล่งที่มีข้อมูลที่พวกเขาต้องการครบถ้วนและมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถวิเคราะห์ทำเล และพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและนำไปสู่ความสำเร็จที่รวดเร็วขึ้น

การเข้ามาเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หน้าใหม่ที่มีมากขึ้นนี้ ไม่เพียงเป็นการเพิ่มทางเลือกในการตัดสินใจของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มสีสันและลูกเล่นใหม่ๆ เข้าไปในตัวสินค้า เช่นการทำโครงการหมู่บ้านขนาดเล็กที่มีประมาณ 8- 10 หลัง แต่มีการวางคาแรกเตอร์ให้กับสินค้าที่ชัดเจน ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ในทำเลที่ใช่ หรือจะพูดว่าปล่อยสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายถูกที่ถูกเวลาก็ว่าได้ และนั่นก็กลายเป็นจุดขายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อสินค้าและต่อการแข่งขันในตลาดด้วย ซึ่งนี่ก็คือตัวอย่างของอำนาจแห่งการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าและทำเลที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560