คลอดแล้ว!โครงสร้าง‘ดีป้า’ แบ่ง5กลุ่มตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล

24 เม.ย. 2560 | 10:00 น.
ชำแหละโครงสร้าง “ดีป้า” ยึดภารกิจตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ต่างจากซิป้าที่มุ่งส่งเสริมซอฟต์แวร์อย่างเดียว เร่งดันการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ ทั้ง“เกษตร-รถยนต์-หุ่นยนต์” ขยายผลสมาร์ทซิตี ไปสู่สมาร์ทอีอีซี

ในที่สุดองค์กรใหม่ ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กลายร่างมาจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หรือ ซิป้ามาเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ก็จัดทำโครงสร้างองค์กรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงสร้างการทำงานใหม่ จะสามารถทำให้ให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งขึ้นมาและไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยดั่งที่เคยเกิดกับซิป้า หรือไม่นั้นคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่าโครงสร้างของดีป้าที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นที่เรียบร้อย จะแบ่งโครงสร้างการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การจัดตั้งสำนักงานดังกล่าวขึ้นมา และนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ ต่างจากโครงสร้างเดิมของซิป้า ที่ส่งเสริมทางด้านซอฟต์แวร์อย่างเดียว

ทั้งนี้โครงสร้างของดีป้า จะประกอบด้วย 5 กลุ่มงานหลัก คือ 1. กลุ่มงานศูนย์พัฒนาดิจิทัล และนวัตกรรม ซึ่งทำหน้าที่ดูแลโครงการพิเศษตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งโครงการส่งเสริมดิจิตอลปาร์ค โครงการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ โดยขยายผลเพิ่มเติมไปยังสมาร์ท อีอีซี ในกลุ่มจังหวัดเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และกลุ่มจังหวัดระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน

2.กลุ่มงานสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล และนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งทำหน้าที่ ขับเคลื่อนสมาร์ทชุมชน เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในพื้นที่ชุมชน แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิตอล, ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน, และฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง

3.กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิตอล ทำหน้าที่ ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการดิจิตอล และเกิดการใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมกลุ่มเอสเคิร์ฟ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมผลิต และรถยนต์ โดยตั้งเป้าผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการดิจิตอล 5 แสนราย ภายใน 20 ปี แบ่งเป็นดิจิตอลสตาร์ทอัพ 20,000 ราย นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักลงทุนต่างประเทศ 80,000 ราย ผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ 50,000 ราย และ ผู้ประกอบการที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลไปใช้ทางธุรกิจ 350,000 ราย โดยจะแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่, ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ, และฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิตอล ตาม พ.ร.บ.ดีป้า

4.กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร ประกอบด้วย ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ฝ่ายอำนวยการสำนักงาน ฝ่ายบริหารทรัพยากรองค์กร และบุคคล และฝ่ายบริการคลังและบริการกลาง

และ 5.กลุ่มงานส่งเสริมและสนับสนุนบริการในพื้นที่ หรือ ต่างจังหวัด ทำหน้าที่ดูแลสนับสนุนสาขาในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ดีป้ามีอยู่แล้ว 3 สาขา และมีแผนขยายสาขาเพิ่มกลางปี 2561 โดยมีเป้าหมายขยายให้ได้ 12 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560