เลือกตั้งชี้ชะตายุโรป นักลงทุนจับตาผลฝรั่งเศสและอังกฤษ

23 เม.ย. 2560 | 14:00 น.
การประกาศเลือกตั้งใหม่อย่างกะทันหันของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพิ่มดีกรีความร้อนระอุให้กับสถานการณ์การเมืองในยุโรป ในช่วงเวลาที่อีกหลายประเทศยักษ์ใหญ่กำลังจะจัดการเลือกตั้งท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่มีเพิ่มมากขึ้น

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลกด้วยการประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่อย่างกะทันหันในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในวันที่ 23 เมษายนเพียงไม่กี่วัน

นางเมย์ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งใหม่ในเวลานี้ เพื่อหวังสร้างฐานเสียงที่มั่นคงสำหรับการเจรจาถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท ที่มีกำหนดระยะเวลาอีก 2 ปีต่อจากนี้ นับตั้งแต่ที่นางเมย์แจ้งแก่อียูเพื่อใช้มาตรา 50 เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษเกรงว่าเสียงในสภาที่ไม่เข้มแข็งจะทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ปรับแข็งค่าขึ้นรับกับข่าวการเลือกตั้ง เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าพรรคอนุรักษ์นิยมของนางเมย์จะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็นและมีจำนวนที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น โดยหวังว่าผลการเลือกตั้งจะทำให้นางเมย์มีอำนาจมากขึ้นในการเจรจาเงื่อนไขเบร็กซิทที่เอื้อต่ออังกฤษ

นอกจากนี้ การเลือกตั้งในปีนี้จะทำให้อังกฤษไม่ต้องจัดการเลือกอีกครั้งจนถึงปี 2565 แทนที่จะเป็นปี 2563 ตามกำหนดเดิม ซึ่งจะทำให้อังกฤษมีความยืดหยุ่นในการเจรจากับยุโรป โดยไม่ต้องพะวงกับการเตรียมตัวจัดการเลือกตั้งในช่วงเวลาที่การเจรจากับยุโรปซึ่งจะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ในขณะที่นักลงทุนมองการเลือกตั้งอังกฤษในทิศทางบวก การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่ออนาคตของยุโรปอย่างไร และผลการเลือกตั้งในรอบแรกอาจส่งผลให้ตลาดเงินทุนผันผวนอย่างหนัก

กระแสชาตินิยมที่มีมากขึ้นในหลายประเทศ ตั้งแต่การลงประชามติเพื่อออกจากอียูของอังกฤษ จนมาถึงชัยชนะของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ กำลังจะถูกทดสอบอีกครั้งในการเลือกตั้งฝรั่งเศส เมื่อคะแนนนิยมของนางมาครีน เลอ แปน ผู้สมัครจากพรรคฟรอนต์เนชันแนล ที่หาเสียงด้วยนโยบายต่อต้านโลกาภิวัตน์และขู่พาฝรั่งเศสถอนตัวจากยูโรโซน บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็น 1 ใน 2 ผู้สมัครที่ผ่านเข้าไปชิงชัยในการเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม

อย่างไรก็ดี คะแนนนิยมช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งของนางเลอ แปน และผู้สมัครอีก 3 ราย คือ นายเอ็มมานูเอล มาครอง ผู้สมัครอิสระ นายฌอง-ลุค เมลองชง จากพรรคฝ่ายซ้ายจัด และนายฟรองซัวส์ ฟียง จากพรรคอนุรักษ์นิยม อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากจนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เปิดกว้างและคาดเดาผลได้ยาก ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนหวาดกลัวที่สุด คือการเข้าชิงชัยของนางเลอ แปน และนายเมลองชง ที่มีแนวคิดคัดค้านยุโรปทั้งคู่ ขณะที่ผลการเลือกตั้งที่ตลาดต้องการมากที่สุด คือชัยชนะของนายมาครองซึ่งสนับสนุนอียู

นายมาร์ค แชนด์เลอร์ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากวาณิชธนกิจ บราวน์ บราเธอร์ส แฮร์ริแมน ยังคงคาดหมายว่านายมาครองและนางเลอ แปน จะเป็นสองผู้สมัครที่ผ่านเข้าไปสู่การเลือกตั้งรอบ 2 โดยหากนางเลอ แปน ได้รับชัยชนะจริง อาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งของอิตาลีที่มีกำหนดจัดขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า เนื่องจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนการถอนตัวจากยูโรโซน อาทิ พรรคเลกานอร์ด และกลุ่มไฟว์สตาร์มูฟเมนต์ กำลังเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่การเลือกตั้งในเยอรมนีที่จะเกิดขึ้นราวๆ เดือนกันยายนจะไม่ได้รับผลกระทบจากกระแสต่อต้านยุโรปมากนัก เนื่องจากผู้สมัครตัวเต็ง คือนางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจากพรรคคริสเตียน เดโมแครตส์ และนายมาร์ติน ชูลซ์ ผู้ท้าชิงจากพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ ต่างสนับสนุนการรวมตัวของยุโรป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560