ส่อง‘ร่างพ.ร.บ.อีอีซี’5สิทธิประโยชน์ส่งเสริมลงทุน

24 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
เป็นประเด็นร้อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เช่าที่ดินระยะยาวเป็นเวลา 50 ปี และขยายเวลาได้อีก 49 ปี รวมเป็นา 99 ปี

ซึ่งการเช่าที่ดิน 99 ปี ดังกล่าว บัญญัติอยู่ใน “มาตรา 52” ของ “ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “ร่างพ.ร.บ.อีอีซี” ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้วและคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา และเตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป
เนื้อหาของมาตรา52ระบุว่า

“การเช่า เช่าช่วง หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มิให้นำมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้

การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกินห้าสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบปี การต่อสัญญาเช่าอาจทำได้แต่จะสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้”

นั่นเป็นเพียงบางส่วนของร่างพ.ร.บ.อีอีซี ที่มีทั้งหมด 68 มาตรา ยังมีมาตรอื่นที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่หลักการสำคัญของร่างพ.ร.บ. ที่เป็นการยกระดับพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่อื่นใดในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติม โดยอนาคตจะมีการออก “พระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”

ร่างพ.ร.บ. ระบุว่า จะมีการตั้ง “คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ที่มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน มีคณะกรรมการรวมทั้งหมด 27 คน โดยคณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจอนุมัติแผนภาพรวมและมาตรการในการพัฒนาพื้นที่ อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิหรือสัมปทาน ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและสิทธิประโยชน์ ออกระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน และติดตามประเมินผลการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ

กำหนดให้มีการตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ที่มี “เลขาธิการสำนักงานฯ”ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่จะให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการฯไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการ

โดยในส่วนสำนักงานฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายฯ เสนอแนวทางกำหนดนโยบาย ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และออกระเบียบต่างๆ รวมถึงศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

และสำนักงานยังมีอำนาจ ดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ โดยวิธีการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ และเปลี่ยน เวนคืน ถมทะเล หรือวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด โดยก่อนการดำเนินการ คณะกรรมการนโยบายจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ความเหมาะสมทางด้านการเงิน และแนวทางหรือมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบ และความคุ้มค่าที่ประชาชนในพื้นที่และรัฐจะได้รับ

มีการกำหนด “สิทธิประโยชน์” ของผู้ประกอบกิจการ หรืออยู่อาศัยภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 5 สิทธิ์ คือ 1.สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าวโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

2.สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร ตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต แม้ว่าจะเกินกำหนดจำนวน หรือระยะเวลาตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งสิทธิพิเศษนี้สำหรับ 1.ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ 2.ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และ3. คู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลในข้อ 1 และข้อ 2

3.สิทธิที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 4.สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศ เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และ 5.สิทธิประโยชน์อื่น

นอกจากนี้ยังจะมีการตั้ง “กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” เพื่อนำเงินจากกองทุนมาพัฒนาพื้นที่ หรือชุมชน รวมทั้งช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ และยังนำไปสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา ให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียงด้วย

ส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายกังวล มีระบุในมาตรา 8 คือการดำเนินการโครงการหรือกิจการใดที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและชุมชน กฎหมายให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานกการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการนั้นเป็นการเฉพาะ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

[caption id="attachment_142613" align="aligncenter" width="480"] ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย)[/caption]

 ‘ปริญญ์’ขายรับเช่าที่ดิน99ปี
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เห็นด้วยกับกรณีรัฐบาลมีนโยบายเสนอแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อขยายระยะเวลาสัญญาการเช่าที่ดินให้ยาวขึ้นสำหรับที่อยู่อาศัยสูงสุด 99 ปี รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย์และอุตสาหกรรมปี 2542 ขยายระยะเวลาการทำสัญญาเช่า ที่ดิน จาก 50 ปี เป็น 99 ปี ภายหลังมีหลายรัฐบาลพยายามเสนอแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีหลายกลุ่มต่อต้านกลัวเป็นการขายประเทศ จึงอยากให้คนไทยก้าวข้ามจุดนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียอาณานิคม เสียสิทธิพิเศษของคนไทย เพราะเราอยู่ในโลกที่ต้องการจะหาเงินลงทุนมาร่วมลงทุนกับเราในอุตสาหกรรมที่เราอยากให้ขยาย ฉะนั้นควรจะเร่งทำให้เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมเพราะเรากำลังแข่งขันกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนแนวคิดของรัฐบาลที่เคยจะขยายเวลาเช่าที่ดินจากทั่วประเทศมาเป็นเฉพาะพื้นที่จะมีความจูงใจในการลงทุนหรือไม่นั้น นายปริญญ์ มองว่าแต่ละภาคของไทยมีเสน่ห์ มีจุดแข็ง จุดอ่อนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นอย่างระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเดินมาถูกจุดแล้ว เพราะมีฐานการผลิตปิโตเคมี มีท่าเรือน้ำลึก การส่งออกยานยนต์ ฉะนั้นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา มีรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว

“แต่ละภาคต้องดูให้ดีว่าจะพัฒนาอย่างไร เพื่อให้ต่างชาติรู้ชัดเจนว่าไทยจะโปรโมทอะไร แต่รัฐบาลต้องเร่งให้ต่างชาติรับทราบถึงแรงจูงใจว่าไทยเรามีดีกว่าประเทศอื่นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และต้องการโปรโมทอุตสาหกรรมประเภทไหน ช่วยเขาขายของอย่างไร”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560