งบลงทุน‘อาร์แอนด์ดี’พุ่งแสนล้าน

23 เม.ย. 2560 | 09:00 น.
งบลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีขยับ สวทน.ตั้งเป้าหมายปี 61 แตะที่ 1 % ของจีดีพีหรือราว 1.4 แสนล้านบาท ชี้ปัจจัยเอกชนเริ่มตื่นตัว รับการพัฒนาใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แรงหนุนการพัฒนาในพื้นที่อีอีซี

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนดยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้สวทน.อยู่ระหว่างการสำรวจและพัฒนาฐานข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ครอบคลุมอุตสาหกรรม 44 ประเภท ประจำปี 2559 เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนความสามารถในการทำวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น ด้านการวิจัยและพัฒนา กิจกรรมนวัตกรรม กิจกรรมทางเทคโนโลยี

โดยเฉพาะด้านการใช้งบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาหรืออาร์แอนด์ดี ที่เบื้องต้นคาดว่าจะปรับตัวขึ้นดีมาอยู่ในระดับ 0.75 % ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในส่วนของภาคเอกชน 70 % และภาครัฐ 30 % ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ในระดับ 8.5 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนของเอกชนราว 6 หมื่นล้านบาท และภาครัฐประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์และปิโตรเคมีและเคมี เป็นต้น

ขณะที่ในปี 2560 มีการตั้งเป้าหมายว่าการใช้งบอาร์แอนด์ดีจะขยายตัวเมขึ้นเป็น 0.9 % หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.1-1.2 แสนล้านบาท และในปี 2561 น่าจะขยายตัวที่ระดับเกินกว่า 1 % ได้หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การที่ตังเป้าหมายการใช้งบอาร์แอนด์ดีดังกล่าว เป็นการสอดรับกับแผนขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมาทางสวทน.ได้มีการระดมสมองกำหนดทิศทางการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน ก็ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก บ่งบอกถึงการตื่นตัวของภาคเอกชนทีจะเข้ามาลงทุนด้านอาร์แอนด์ดี

ที่สำคัญการที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยจะมีการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ จะมีส่วนสำคัญให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นจำนวนมากขึ้น
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งอีอีซีไอนั้น ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการเจรจาค่าเช่าที่ดิน 350 ไร่ ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หลังจากได้ข้อยุติแล้ว จะนำมาจัดทำแผนการขอใช้งบประมาณปี 2561 จากรัฐบาลต่อไป ที่คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท สำหรับการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560