ดีเดย์‘ลอยตัว-เลิกโควตา’น้ำตาล ธ.ค. ย้ำทุกโรงงานร่วมสต๊อก 2.5 แสนตันกันขาด

25 เม.ย. 2560 | 08:00 น.
สอน.ฟันธง ธ.ค.นี้ดีเดย์ ลอยตัวนํ้าตาลและยกเลิกโควต้าก.ข.ค. ส่วน 8 แสนตันขายผ่านอนท.ยังคงไว้เพราะเป็นตัวคำนวณราคานํ้าตาลส่งออกทั้งหมด ยํ้าต้องมีสต๊อกนํ้าตาลไว้ 1 เดือน 2.5 แสนตันกันนํ้าตาลในประเทศขาด

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2560/2561 ที่จะเริ่มเดือนธันวาคมนี้ จะประกาศลอยตัวน้ำตาลและยกเลิกโควตาก. (บริโภคในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกผ่านอนท.)โควตาค.(ส่งออกโดยผู้ผลิตน้ำตาล) ที่ความคืบหน้าล่าสุดพอจะสรุปได้แล้ว

"จากเดิมที่มีโควต้าเพราะมีจุดประสงค์คือต้องการให้มีปริมาณน้ำตาลในประเทศเพียงพอ จึงกำหนดสัดส่วนระหว่างส่งออกและขายในประเทศ ซึ่งทางมิตรประเทศก็มองว่าตรงนี้เป็นการจำกัด ทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงขึ้น คือไปเบี่ยงเบนอุปสงค์และอุปทาน ในตลาดภายใน สมมุติว่าภายในบริโภคน้ำตาล 5ล้านตัน แล้วไปกำหนดว่าขายได้แค่ 4 ล้านตัน ฉะนั้นวันนี้เราจึงต้องเลิกระบบโควตา ใครมีความประสงค์จะส่งออกหรือขายในประเทศก็แล้วแต่ และเปิดโอกาสให้นำเข้าด้วย"

อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าก่อนเดือนตุลาคมปี2560 ในแง่กฏระเบียบ บทลงโทษ และการเคลียร์หนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาล(กท.)จะต้องเรียบร้อย ต่อไปกู้เงินใครมาก็ไม่ต้องผ่านมติครม. จะมีความอิสระในการดกู้เงินมากขึ้น จากนั้นจะประกาศลอยตัว ในช่วงเริ่มฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2560/2561 ที่จะเริ่มใช้เดือนธันวาคมนี้ ทั้งการประกาศลอยตัวและยกเลิกโควตา

ส่วนน้ำตาล 8 แสนตันที่ขายผ่านบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.)นั้นคือน้ำตาลส่งออกธรรมดา แต่ขายผ่านอนท. ที่ยังต้องมีอยู่เพราะเป็นตัวที่ใช้ราคาที่ขายมาคำนวนราคาน้ำตาลส่งออกทั้งหมด แต่เราจะไม่กำหนดว่าเป็นโควตา จะไม่พูดเป็นโควตาหรือยกเลิกระบบโควตาไป แต่จะพูดว่าเป็นน้ำตาลส่งออกและน้ำตาลที่ขายในประเทศ ซึ่งใครอยากส่งออกก็ส่งออกไป ใครจะนำเข้าก็ได้ โดยแต่ละโรงงานก็ไปบริหารเอง แต่การส่งออกจะต้องมอบน้ำตาลส่วนหนึ่งให้อนท. เพื่อทำราคา เพื่อให้อนท.รู้ราคา และนำราคาที่อนท.ขายมาคำนวนราคาน้ำตาลส่งออกทั้งหมด ตรงนี้เลิกไม่ได้เพราะเป็นกลไกแบ่งปันผลประโยชน์ มาคำนวณรายได้ระบบ

ดังนั้นใครจะส่งออกน้ำตาลก็ได้แต่น้ำตาลในประเทศจะต้องไม่ขาดแคลน โดยตามกติกาใหม่คือ 1.จะต้องสะต๊อกน้ำตาลทรายจากผู้ผลิตทั้งหมดรวมกันแล้วมีปริมาณเท่ากับการบริโภคภายในประเทศ 1 เดือน หรือรวมกันราว 2.50 แสนตัน โดย2.50 แสนตันนี้โรงงานน้ำตาลทุกโรงจะต้องไปแบ่งเฉลี่ยให้ตรงตามสัดส่วนน้ำตาลที่แต่ละค่ายผลิตได้ ซึ่งมีสัดส่วนไม่เท่ากัน วัดตามปริมาณมากน้อยของน้ำตาลที่แต่ละค่ายผลิตได้ เพื่อเก็บน้ำตาลไว้ตรวจปริมาณตามสะต็อก จากเดิมที่น้ำตาลโควต้าก.จะถูกจัดสรรสำหรับบริโภคในประเทศ 2.5-2.6 ล้านตันตรงนี้จะกันไว้เลย

"ตามกติกาใหม่จะไม่มี เพียงแต่บอกว่า โรงงานน้ำตาลทรายขาวทุกค่ายจะต้องสะต๊อกน้ำตาลให้1 เดือน หรือ 2.50 แสนตัน โดยน้ำตาลในส่วนนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อน้ำตาลในประเทศเกิดการขาดแคลนเท่านั้น"

ต่อไปก็ต้องไปออกระเบียบให้น้ำตาลส่วนนี้นำออกมาขายในประเทศได้ โดยคนที่จะมาดูแลและสามารถนำน้ำตาลออกมาใช้ได้ในยามขาดแคลน น่าจะเป็นสอน.และกระทรวงพาณิชย์ หรือให้พิจารณาในรูปของโรงงานน้ำตาล ก็ต้องมาหารือกัน และเมื่อดึงออกมาใช้แล้วก็ต้องไปหาน้ำตาลมาแทนที่ โดยจะนำมาจากไหนก็แล้วแต่การบริหารจัดการของโรงงานน้ำตาลแต่ละค่าย ซึ่งจะต้องเรียงคิวรับผิดชอบ ดึงในส่วนของใครออกมาก่อนค่ายนั้นก็ต้องไปหาน้ำตาลที่ดึงออกไปมาแทนที่ พอเดือนต่อไปยังขาดอีกก็ดึงเอาสัดส่วนของรายต่อไปออกมาใช้ก่อน พอเดือนต่อไป ถ้าน้ำตาลในประเทศขาดแคลนอีกก็เป็นคิว ของรายต่อไปก็ต้องนำน้ำตาลออกมาตามสัดส่วนของตัวเองซึ่งแต่ละค่ายไม่เท่ากันขึ้นอยู่ที่ปริมาณการผลิตน้ำตาล

"ถ้าหาน้ำตาลมาคืนไม่ได้ก็มีบทลงโทษ ตามกฏหมายเดิมโดนปรับเท่ากับราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 20 บาท หรือ 20,000 บาทต่อตัน และยังมีบทลงโทษอื่นอีกตามกฎหมายฉบับอื่น เช่น กรณีกักตุนน้ำตาลไว้เพื่อทำกำไร ไม่นำออกมาขายก็มีโทษ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560