รัฐกับสงครามอุบัติเหตุ

23 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
สำหรับประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ในระดับที่ก้าวหน้าพอสมควรอย่างประเทศไทยคงไม่มีเหตุผลอะไรที่สามารถอธิบายว่าทำไมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ทั้งในด้านจำนวนอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจึงอยู่ในระดับที่สูงมาก สูงถึงติดอันดับต้นๆของโลก ยิ่งในช่วงเทศกาลต่างๆจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ภาครัฐได้ให้ความสำคัญ และดำเนินการหลากหลายวิธีการในการพยายามแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนดังกล่าว ตัวเลขล่าสุดในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังน่าตกใจกับตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงดังกล่าว

ปัญหาดังกล่าวบั่นทอนเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศทั้งทางตรง และทางอ้อม ต้นทุนทางตรงทั้งในส่วนชีวิตและทรัพย์สินที่สูญเสีย และต้นทุนทางอ้อมต่างๆทั้งในการรักษาพยาบาล และการจัดการกับอุบัติเหตุ เกิดคำถามที่เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่ได้ผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทย

ในระดับปฏิบัติการเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจรแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบคือ คน รถ และ ถนน (รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ) หากคนหรือผู้ขับขี่ทั้งรถส่วนบุคคล มอเตอร์ไซค์ หรือรถสาธารณะ มีความระมัดระวัง มีความพร้อมในการขับขี่ ตัวยานพาหนะมีสมรรถนะและความพร้อมในการใช้งาน และองค์ประกอบด้านถนนหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรม ก็จะส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดเหตุลดลง

ทั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งใน pre-accident และ post-accident คือทั้งในด้านการป้องกันการเกิดเหตุ และ การลดผลกระทบของอุบัติเหตุ หากลงรายละเอียดของแต่ละปัจจัยก็จะเห็นประเด็นปัญหายิบย่อยมากมายพร้อมทั้งวิธีการและทางออกที่หลากหลาย

หากดูเรื่องคนก็ต้องมองเรื่องนโยบายในด้านการกวดขันกฎระเบียบ เช่น การปรับจับกรณีเมาแล้วขับ หรือ การไม่สวมใส่หมวกกันน็อค อีกด้านคือการปลูกฝังการรับรู้ความเสี่ยงของอุบัติเหตุ และความรับผิดชอบในการป้องกันอุบัติเหตุ ทั้งในรูปแบบระยะยาวผ่านภาคการศึกษา และระยะสั้นผ่านสื่อมวลชน และ campaign ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงภาคที่เป็นผู้ขับขี่รถสาธารณะหรือรถบรรทุกที่สร้างความเสี่ยงเพิ่มต่อการเกิดเหตุ

ในมิติยานพาหนะก็มีนโยบายที่เกี่ยวพันกับความเหมาะสมของรูปแบบยานพาหนะ การใช้และเครื่องมือส่วนควบต่างๆที่จำเป็นสำหรับลดความเสี่ยงและลดผลกระทบของอุบัติเหตุ ความเข้มงวดในการตรวจสอบการใช้งานและความพร้อมของยานพาหนะทั้งส่วนบุคคล และสาธารณะ ในด้านถนนและปัจจัยแวดล้อมคือการใช้มาตรฐานการออกแบบ และก่อสร้างถนนให้เป็นไปตามความปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อให้ข้อมูล และแจ้งผู้ใช้ทางให้ระมัดระวังภัยในตำแหน่งต่างๆ

หากเราสามารถกำหนดทุกอย่างจากกระดาษเปล่าให้เป็นไปตามที่คิดได้ปัญหาอุบัติเหตุคงลดลงได้ตามฝัน แต่ในสภาพความเป็นจริงประเทศไทยมีการปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเรื้อรังจนทำให้บางเรื่องกลายเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตซึ่งบางส่วนก็เป็นไปตามความจำเป็นของสภาวะเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา ความพยายามในการออกกฎระเบียบหรือเข้มงวดในทางปฏิบัติก็จะมีการต่อต้านและดำเนินการได้ยาก

ดังนั้นการที่จะปรับเปลี่ยนสถานการณ์ดังกล่าวจำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของรากเหง้าของแต่ละปัญหาในแต่ละพื้นที่รวมถึงแนวทางและกลไกที่จะแก้ไขได้จริงๆ รวมถึงสร้างทางเลือกในการดำรงชีวิตที่สะดวกกว่ารูปแบบที่คุ้นเคยกันแต่มีความเสี่ยงสูง

นอกเหนือจากมิติในระดับปฏิบัติการแล้วยังมีมิติในเชิงนโยบาย ประเด็นดังกล่าวคงต้องกล่าวว่าเป็นผลไม้พิษที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ กล่าวคือโครงสร้างพื้นฐานเมือง และรูปแบบการคมนาคมขนส่งของประเทศและเมืองต่างๆต้องพึ่งพิงโครงข่ายถนน และรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนใหญ่ กับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงและจำนวนอุบัติเหตุย่อมเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา

การเดินทางระหว่างเมืองต้องฝากความหวังไว้กับการยกระดับการให้บริการรถไฟทั้งทางคู่ และความเร็วสูง การเดินทางในเมืองต้องฝากความหวังไว้กับการพัฒนาระบบโดยสารสาธารณะในเมืองต่างๆรวมถึงการปรับผังเมืองให้เอื้อกับการเดินทางในรูปแบบอื่นๆเพิ่มขึ้น มิติปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้ในระยะเวลาอันสั้นแต่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งมิติระยะสั้นและระยะยาวดูแล้วคงต้องใช้ความต่อเนื่องและทรัพยากรในการดำเนินการ ศัตรูสำคัญคือความสนใจของภาคสาธารณะ ในทางวิชาการได้มีการวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ระดับความปลอดภัยของระบบคมนาคมของประเทศ จะถูกปฏิรูปและปรับปรุงอย่างมากเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เป็นที่สนใจเกิดขึ้น เนื่องจากเรื่องอุบัติเหตุเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเห็นผลช้าในเชิงภาคการเมืองจะขาดความต่อเนื่องและจริงจังในการจัดการ ต้องให้เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนและสาธารณะ

[caption id="attachment_142570" align="aligncenter" width="503"] รัฐกับสงครามอุบัติเหตุ รัฐกับสงครามอุบัติเหตุ[/caption]

เช่น กรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเหตุทางการบินครั้งใหญ่ในช่วงปี 1970 จนทำให้เกิดการก่อตั้ง National Transport Safety Board ที่มีรูปแบบเป็นหน่วยงานเฉพาะที่มีอัตรากำลังและรับผิดชอบโดยตรงในด้านอุบัติเหตุในภาคคมนาคม หรือในกรณีญี่ปุ่นที่มีอุบัติเหตุรถโดยสารระหว่างเมืองครั้งใหญ่จนเกิดการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและดำเนินการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับกรณีของเกาหลีใต้ที่กำลังปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงการสื่อสารและข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการกู้ภัยหลังเหตุการณ์เรือเฟอรี่ล่มในปี 2014

ทั้งนี้อาจมองได้ว่าเหตุเหล่านี้สร้างภาวะอำนาจให้กับทางภาครัฐในการปรับเปลี่ยน และดำเนินการอย่างเข้มงวดถึงแม้จะขัดกับความคุ้นเคยของประชาชนและส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ประเทศไทยคงต้องถอดบทเรียนในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบในการจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุซึ่งถือว่าเป็นศัตรูอันดับต้นๆในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560