กรมการขนส่งฯเผยผลสำเร็จ GPS Tracking สงกรานต์ไร้ผู้เสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะ

19 เม.ย. 2560 | 09:24 น.
กรมการขนส่งทางบก ย้ำความสำเร็จของการติดตามพฤติกรรมการขับรถผ่านระบบ GPS Tracking และการสแกนรถโดยสารสาธารณะเข้มข้น ต่อเนื่อง เพื่อดูแลประชาชนตลอดช่วงสงกรานต์ 7 วัน (11-17 เม.ย. 60) ระบุไม่มีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะรุนแรง ไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิตในการเดินทางทั้งไปกลับกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง และไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะเป็นต้นเหตุ

19 เมษายน 2560 - นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย พลตำรวจเอกอำนาจ อันอาตม์งาม กรรมการบริษัทฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด, พันเอกสุวิทย์ เกตุศรี รองผู้บัญชาการ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, พลตำรวจตรีสมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง, นายชิดชัย ภู่อารีย์ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเดินรถ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ร่วมแถลงถึงผลการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งบริษัท ขนส่ง จำกัด, ทหาร, ตำรวจ, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, จังหวัด, ท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายหน่วยงานเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ  ที่มีส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง จนถึงจุดหมายปลายทาง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 (ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2560) ทำให้ไม่มีผู้โดยสารตกค้างที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร สามารถส่งประชาชนกลับบ้านได้ครบทุกคน รวมถึงรองรับการเดินทางกลับหลังเทศกาลสงกรานต์อย่างสะดวกและปลอดภัยทั้งเที่ยวไปและกลับ

R311-17601-1 สำหรับการดำเนินงานช่วงสงกรานต์ 2560 กรมการขนส่งทางบกกำหนดเป้าหมายลดสถิติอุบัติเหตุและความสูญเสียที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะเป็นต้นเหตุให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตที่มากับรถโดยสารสาธารณะที่เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ ผ่านนโยบายเพื่อการควบคุม กำกับ ติดตามพฤติกรรมการขับรถและการใช้ความเร็วภายใต้ที่กฎหมายกำหนด ตลอดการเดินทางด้วยระบบ GPS Tracking พร้อมเข้มข้นมาตรการ “สแกนรถโดยสาร” ตรวจความพร้อมรถ ตรวจความพร้อมพนักงานขับรถ ในระบบรถโดยสารประจำทาง ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดที่ทางราชการกำหนดรวม 212 แห่งทั่วประเทศ ตามรายการตรวจสอบที่กรมการขนส่งทางบกจัดทำขึ้น (Checklist) ตั้งแต่ต้นปี ต่อเนื่องช่วงเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 5 – 24 เมษายน 2560 สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัย 7+7+7 ของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัย อาทิ การกำหนดให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ทุกคนก่อนออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารและตลอดการโดยสาร ส่งผลให้อุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 (11 - 17 เมษายน 2560) มีความรุนแรงลดลง โดยพบว่าในจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด 20 ครั้ง เกิดจากรถโดยสารสาธารณะเป็นต้นเหตุ 5 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บที่มากับรถโดยสาร 5 ราย แต่ไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่รถโดยสารสาธารณะเป็นต้นเหตุ  และไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิตในการเดินทางทั้งไปกลับกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่กรมการขนส่งทางบกมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะทั้งหมดในช่วงสงกรานต์ 7 วัน เกิดขึ้นทั้งหมด 20 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปีก่อน 1 ครั้ง โดยช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดเป็นช่วงเวลากลางคืน ระหว่างเวลา 16.01 – 08.00 น. สาเหตุทั้งหมดมาจากพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับรถ ได้แก่ การขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด การขับรถตามหลังในระยะกระชั้นชิดเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน การขับรถเร็ว หลับใน ตลอดจนการไม่ใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยในการลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ได้แก่ การไม่สวมหมวกนิรภัย การไม่คาดเข็มขัด เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารจะเพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปีก่อน 1 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย  แต่พบว่าจำนวนผู้บาดเจ็บมีเพียง 17 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 45 ราย และไม่มีผู้โดยสารเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่รถโดยสารสาธารณะเป็นต้นเหตุ แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก แต่ความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบจากจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บที่ลดลงจากช่วงสงกรานต์ปีก่อน สืบเนื่องมาจากมาตรการเข้มข้น สแกนความพร้อมรถ ความพร้อมคนก่อนออกเดินทาง รวมถึงยังเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงการเดินทาง และเป็นผลการการได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนส่งในการปรับปรุงสภาพรถและกำกับดูแลพนักงานขับรถอย่างเข้มงวดตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการสแกนรถโดยสารซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จทำให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนพบว่าในช่วง 7 วัน (11-17 เมษายน 2560) ตรวจความพร้อมรถโดยสารและพนักงานขับรถรวม 142,817 คัน พบรถโดยสารมีข้อบกพร่องรวมทั้งสิ้น 635 คัน คิดเป็นร้อยละ 0.44 ของจำนวนที่ตรวจความพร้อมทั้งหมด โดยสั่งพ่น “ห้ามใช้รถ” ทันที จำนวน 4 คัน และสั่งเปลี่ยนรถอีกจำนวน 15 คัน เนื่องจากพบว่ามีข้อบกพร่องที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยหากนำรถออกใช้งาน เช่น กระจกแตกร้าว ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจกมีจำนวนขนาดและตำแหน่งติดตั้งไม่ตรงตามที่กำหนด ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 616 คัน เป็นความบกพร่องเล็กน้อยได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามข้อหาความผิดแล้วทุกราย ส่วนการตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถรวม 143,639 ราย พบความบกพร่อง 63 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.04 ของจำนวนที่ตรวจความพร้อมทั้งหมด สั่งเปลี่ยนตัวคนขับรถทันที 8 ราย ส่วนที่เหลือ 55 ราย เปรียบเทียบปรับตามข้อหาความผิด บันทึกประวัติที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก หากพบการกระทำความผิดซ้ำจะพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป นอกจากนี้ ยังบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องตั้งจุดตรวจความพร้อมบนเส้นทางสายหลักและสายรองทั่วประเทศ จำนวน 14 จุด ใน 11 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิษณุโลก ลำปาง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และระยอง เพื่อตรวจสอบการให้บริการระหว่างเส้นทางให้มีความปลอดภัยสูงสุด ในส่วนของการตั้งจุดบริการอาชีวะอาสา ซึ่งกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยการอาชีพตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน บนถนนสายหลักทั่วประเทศ ให้บริการตรวจสภาพรถเบื้องต้นฟรี เติมน้ำกลั่น น้ำมันเครื่อง เปลี่ยนหลอดไฟ และการบำรุงรักษารถอื่นๆ จำนวน 28,510 คัน การช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุเร่งด่วน/ซ่อมรถที่อาการไม่หนักมาก จำนวน 5,193 คัน ให้บริการรถยก/รถลาก จำนวน 24 คัน และบริการน้ำดื่ม แนะนำเส้นทาง อีกจำนวน 18,158 คัน

กรมการขนส่งทางบกยังคงเดินหน้าทุกมาตรการเพื่อยกระดับความปลอดภัย หามาตรการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และปรับมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุให้มีความเข้มข้นขึ้นยิ่งกว่าเดิม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งควบคุมการตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะให้มีมาตรฐานความปลอดภัยอย่างยั่งยืน กำชับเข้มงวดผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถ ให้มีการบำรุงดูแลรักษาสภาพรถให้มีความมั่นคงแข็งแรง รถพร้อม/คนพร้อม อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เร่งรัดดำเนินการติดตั้ง GPS ในรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถโดยสารสาธารณะทุกคัน เพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับรถให้มีความปลอดภัย พร้อมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำจุดพักรถที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ขับรถได้หยุดหรือจอดพักรถอย่างเพียงพอไม่น้อยกว่า 30 นาที ซึ่งจะลดปัจจัยเสี่ยงจากความอ่อนล้า อ่อนเพลียของผู้ขับรถที่ขับต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน และรณรงค์ปลูกฝังวินัยจราจรโดยเริ่มตั้งแต่สถานศึกษาตั้งแต่เยาว์วัย ส่วนการรณรงค์ 4 ห้าม 2 ต้อง (4 ห้าม : เมา เร็ว โทร ง่วง และ 2ต้อง : เข็มขัดนิรภัย หมวกนิรภัย) ควรให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนมีส่วนร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมของคนไทย เช่นเดียวกับแนวคิด “ต้นทุนคนไทย” ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นการนำคุณลักษณะที่ดีทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมของคนไทย ได้แก่ สำนึก น้ำใจ วินัย มารยาท ห่วงใย เกรงใจ อภัย และเคารพ ที่มีอยู่ในตัวคนไทยทุกคนมาสร้างเป็นทุนความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ดีแก่คนไทยที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันทุกคน