รัฐมนตรีเกษตรฯยันภัยแล้งปี60รุนแรงน้อยสุดรอบ5ปี

19 เม.ย. 2560 | 08:36 น.
“ฉัตรชัย” เผยสถานการณ์ภัยแล้งปี 60 ไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา ล่าสุด ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง ชี้ผลจากแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงไม่มากนัก มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 จำนวน 1 จังหวัด 3 อำเภอ 13 ตำบล 85 หมู่บ้าน คือ จ.สระแก้ว ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.ตาพระยา โดยมีพื้นที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิง 100,476.50 ไร่ เกษตรกร 6,106 ราย วงเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ 111.83 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ได้ดำเนินการโอนเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ ให้เกษตรกรแล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประกาศยกเลิก จ.สระแก้ว เป็นเขตให้ความช่วยเหลือฯ

อย่างไรก็ตาม จากสถิติพื้นที่ประกาศภัยแล้ง ณ วันเดียวกัน (19 เม.ย. 60) ระหว่าง ปี 2555 - 2560 พบว่าปีนี้มีน้อยกว่าปีก่อน ๆ มากในรอบ 5 ปี อาทิ ปี 2555 ประกาศ 42 จังหวัด 334 อำเภอ 2,442 ตำบล 25,434 หมู่บ้าน ปี 2559 ประกาศ 27 จังหวัด 136 อำเภอ 614 ตำบล 4,911 หมู่บ้าน และ ปี 2560 ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ประกาศภัยแล้งมีน้อยกว่าปีก่อน ๆ ประกอบด้วย 1. แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558 - 2569 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งทำเป็น 4 เท่าของรัฐบาลที่ผ่านมา สามารถเพิ่มปริมาณต้นทุน ได้ 2,069.30 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ได้ 1.59 ล้านไร่ ตลอดจนเพิ่มประปาหมู่บ้านได้ 5,911 หมู่บ้าน เหลืออีก 1,579 หมู่บ้าน จะแล้วเสร็จในปี 2560 2. การบริหารจัดการน้ำที่บูรณาการ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงฤดูน้ำหลากระบายน้ำส่วนหนึ่งลงทะเล และเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ไว้ใช้ในฤดูแล้ง เช่น พื้นที่บางระกำ ผันน้ำเก็บในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และบึงขี้แร้ง เป็นต้น

3. ปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2560 โดยเน้นที่การเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่น้ำน้อย สร้างความชุ่มชื้นพื้นที่การเกษตร บรรเทาหมอกควัน และสลายลูกเห็บ 4) กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 เพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน/บรรเทาภัยแล้ง ปี 2559/60 จำนวน 6 มาตรการ 29 โครงการ 5) ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการพัฒนาตามความต้องการของชุมชน ทำให้มีแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อย เช่น กล้วย เป็นต้น รวมทั้งการเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่แล้งซ้ำซากกว่า 6,000แห่ง และ 6) การบริหารจัดการของจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการมาตรการป้องกัน/ยับยั้งภัยแล้ง