จ่อขึ้นค่าไฟ 10 สต. ก๊าซแพงดันต้นทุน

19 เม.ย. 2560 | 04:38 น.
วันที่ 19 เม.ย.60-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่3254 ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย.2560 สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่าผู้บริโภคทำใจ ค่าไฟจ่อขยับกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย กกพ.ชี้เป็นช่วงขาขึ้นตลอดทั้งปี เหตุต้นทุนราคาก๊าซพุ่งต่อเนื่อง ผลกระทบจากพลังงานทดแทนจ่ายเข้าระบบมากขึ้น กฟผ.ห่วงหน้าร้อนไฟไม่พอใช้ ต้องขอปตท.จ่ายแอลเอ็นจีเพิ่มยิ่งอ่วมหนักอีก

ผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับเพิ่มขึ้นย้อนหลังไป 6-12 เดือนที่ผ่านมา กำลังจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ

ประเทศ เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า ค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้เป็นต้นไปจะเป็นช่วงขาขึ้นตลอดทั้งปี

โดยในการประชุมบอร์ดกกพ.ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2560 ว่า มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันที่ค่าเอฟทีติดลบอยู่ที่ 37.29 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่เก็บอยู่ 3.422 บาทต่อหน่วย

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้เป็นต้นไป ค่าไฟฟ้าจะเป็นช่วงขาขึ้นตลอดทั้งปี เนื่อง จากราคาก๊าซธรรมชาติย้อนหลัง 6-12 เดือน ขยับเพิ่มสูงขึ้นตามราคานํ้ามันดิบ โดยปีก่อนราคา นํ้ามันดิบอยู่ที่กว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่เมื่อเทียบกับปีนี้อยู่ที่กว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้นจึงส่งผลกระทบโดยตรงกับค่าเอฟทีในงวดถัดๆ ไป

โดยค่าเอฟทีงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2560 ที่บอร์ดกกพ.จะมีการพิจารณาในวันที่ 19เม.ย.นี้ มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเอฟทีของงวดเดือนม.ค.-เม.ย. ปีนี้ติดลบน้อยลงจาก 37.29 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงมากขึ้น ซึ่งมีปัจจัยมาจากต้นทุนราคาก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 65% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดปรับเพิ่มขึ้นจากงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2560 อยู่ที่ 233 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังมีค่าเอฟทีที่สะสมมาจากงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2560 ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมดอีกส่วน รวมถึงในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบ Adder และ FiT จ่ายเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีราว 1-2 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีผลกระทบต่อค่าเอฟทีราว 22.49 สตางค์ต่อหน่วย

อีกทั้ง ผลการปิดซ่อมแหล่งก๊าซยาดานาในเมียนมา เมื่อวันที่ 25-28 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ต้องใช้นํ้ามันเตาผลิตไฟฟ้า 30 ล้านลิตรส่งผลให้กระทบค่าไฟเพียง 0.2 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีเงินที่เหลือจากค่าความพร้อมจ่าย (เอพี) ของโรงไฟฟ้าภาคเอกชนที่เก็บมาช่วงหยุดซ่อมบำรุงนอกแผนประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อกันไว้ดูแลค่าเอฟที แต่คิดเป็นอัตราที่น้อยมากหรือเพียง 3 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น จึงไม่เพียงพอที่จะตรึงค่าไฟฟ้าไม่ให้ขยับขึ้นได้ ดังนั้นค่าเอฟทีงวดใหม่จะปรับขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนจะปรับเท่าไรนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดอีกครั้งว่าจะทยอยปรับขึ้นในอัตราเท่าไร เพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

“แนวโน้มค่าเอฟทีขาขึ้นไปจนถึงสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน เพราะอิงราคาก๊าซย้อนหลังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เงินที่จะเอามาช่วยก็จะหมดแล้ว ดังนั้นต้องช่วยกันประหยัดไฟ ส่วนค่าเอฟทีงวดใหม่จะขยับขึ้นเกิน 10 สตางค์ต่อหน่วยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะอาจทยอยปรับขึ้นก็ได้” นายวีระพล กล่าว

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ซึ่งกฟผ.คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก) จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ อยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนรับมือไว้ เบื้องต้น สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมรับอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยยอมรับว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ายังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนจะกระทบค่าไฟฟ้าเท่าไรนั้น ทาง กกพ. จะเป็นผู้พิจารณาต้นทุน