จับตาประชุมผู้ถือหุ้น บจ.สอดไส้ส่งพรรคพวกนั่งกรรมการ จี้ซักถามวิธีการสรรหา

20 เม.ย. 2560 | 01:00 น.
ก.ล.ต.ไล่จับหนูไม่ทัน แฉเจ้าของบจ.ไม่มีหลักเกณฑ์ปลดกรรมการและคัดสรรกรรมการใหม่ ไล่ออกคนที่คัดค้านการลงทุนที่ไม่เข้าท่า

แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนควรจะเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีการพิจารณาการแต่งตั้งกรรมการที่ออกตามวาระ เพื่อที่จะไปซักถามถึงหลักเกณฑ์ในการปลดกรรมการ รวมถึงวิธีการสรรหากรรมการคนใหม่ด้วยซึ่งหลายกรณีกรรมการที่ถูกออกไปจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงประธานคณะกรรมการตรวจสอบ เพราะอาจจะทำงานไม่ถูกใจเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ และส่งตัวแทนที่ไม่มีความรู้เข้ามาเป็นกรรมการด้วย เช่นลูกหลานเจ้าของบริษัท

“บางบริษัทแปลกมาก ที่คณะกรรมการมีมติออกมาว่าควรจะเลือกกรรมการคนใดกลับเข้าเป็นกรรมการต่ออีกวาระหนึ่ง หรือไม่ควรให้กรรมการคนใดเข้ามา โดยไม่ปล่อยให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นโหวตเพื่อเลือกกรรมการที่ดีและเหมาะสมที่สุดกลับเข้ามารับตำแหน่ง “แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนั้นนักลงทุนควรจะรักษาสิทธิของตัวเอง ในกรณีที่บริษัทมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ควรจะซักถามถึงผลตอบแทนที่บริษัทคาดว่าจะได้รับในอนาคต รวมถึงขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุน เพราะหลายกรณีที่มีกรรมการบางคนไปซื้อที่ดินดักไว้แล้วนำมาขายต่อให้กับบริษัทในราคาแพงขึ้น ขณะที่ความเป็นไปได้ของโครงการไม่มี เนื่องจากไม่มีการศึกษาข้อมูลรอบด้านและครบถ้วนอย่างที่ควรจะเป็น หากตัดสินใจลงทุนไปแล้วจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ แม้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต.มีการออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG Code) สำหรับบริษัทจดทะเบียนฉบับใหม่ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคณะกรรมการในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องยอมรับว่ายังมีเจ้าของบริษัทบางคนกอบโกยผลประโยชน์ออกจากบริษัท ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นทั่วไป

ด้านสมาคมส่งเสริมการลงทุนไทย กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนจะต้องจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ปิดงบการเงิน ซึ่งปีนี้จะเหมือนทุกๆปีที่บริษัทจัดการประชุมกระจุกตัวภายใน5วันสุดท้าย โดยเฉพาะวันที่ 27 เมษายน 2560 มีการจัดประชุมถึง 102 บริษัท ซึ่งสมาคมฯจัดส่งอาสาเข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วยทุกแห่ง ทางด้านสุขภาพของบริษัทจดทะเบียนมีจำนวน 50 บริษัทที่ขาดทุนซ้ำซาก รวมถึงมีบริษัทหลายแห่งที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะมีการเพิ่มทุนถี่มาก แต่ไม่ทราบว่านำเงินไปลงทุนอะไร บริษัทบางแห่งก็ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจหลัก รวมถึงการแต่งตั้งกรรมการที่ไม่มีการสรรหาแต่อย่างใด

ส่วนวาระการเลือกตั้งกรรมการ ทางสมาคมฯ ได้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกรรมการอิสระ กรณีที่อยู่ในตำแหน่งเกิน 9 ปี ทางสมาคมฯจะโหวตไม่ให้ผ่าน เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ พบว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งที่มีกรรมการอิสระอยู่ในตำแหน่งนานถึง 38 ปี 3 เดือน ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าหาผู้เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งยาก แต่ไม่เป็นความจริง เพราะเจ้าของต้องการให้ตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ เพื่อไม่ต้องตรวจสอบการทำงานของบริษัทและคณะกรรมการบริษัท

“บริษัทที่มีกรรมการ 10 คนจะเลือกตัวแทนเป็นกรรมการอิสระ 1 ใน 3 และเลือกรรมการตรวจสอบ เพื่อเข้ามาถ่วงดุล คณะกรรมการแต่จะต้องมีแนวทางการสรรหาผู้ที่เหมาะสม ไม่ต้องการให้เจ้าของส่งตัวแทนเข้ามาคุมทุกบอร์ด และมีความเห็นว่าไม่เหมาะสมที่ประธานกรรมการบริษัท เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบด้วย อย่างนี้คงไม่มีใครกล้าเข้าไปตววจสอบประธานกรรมการบริษัท “แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต่างๆ ทางสมาคมฯจะให้ความสำคัญเรื่องใดเป็นพิเศษในปีนี้ คงเป็นเรื่องของบัญชี ที่ผู้สอบบัญชีจะเขียนเรื่องความเสี่ยงเตือนชัดเจนในหน้างบการเงิน นักลงทุนต้องให้ความสำคัญในการอ่าน แต่ยอมรับว่าข้อมูลยังมีความไม่ขัดเจน หลายครั้งเป็นการแปลความจากภาษอังกฤษ ทำให้ข้อมูลที่นำเสนอคลุมเครือ ไม่ชัดเจน นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญอีกเรื่อง คือพรบ.หลักทรัพย์ที่ปรับปรุงใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการรับรู้ข้อมูลภายใน ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง จากเกณฑ์ใหม่ขยายวงผู้อยู่ในกลุ่มนี้กว้างขึ้น และก.ล.ต.ก็เพิ่มความเข้มงวดเรื่องกรรมการอินไซด์ฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560