‘คาร์แชริ่ง’เกิดยาก อีไอซีชี้ข้อจำกัดมาก-รัฐคุมค่าโดยสาร

22 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
อีไอซีวิเคราะห์ธุรกิจคาร์แชริ่งในไทยแจ้งเกิดยาก เหตุข้อจำกัดมากมายทั้งจุดจอดรถน้อย ระบบขนส่งสาธารณะไม่ครอบคลุม เจนวายนิยมใช้รถส่วนตัว และภาครัฐคุมเพดานค่าโดยสาร ชี้เมืองท่องเที่ยวมีโอกาสมากสุด

อีโคโนมิก อินเทลลิเจนซ์เซ็นเตอร์(อีไอซี)ธนาคารไทยพาณิชย์ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “จูนเครื่องก่อนสตาร์ตบริการ Car Sharing”โดยระบุว่าธุรกิจคาร์แชริ่งที่กำลังเป็นกระแสการเติบโตไปทั่วโลกนั้น แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว คงจะแจ้งเกิดได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ หากจะแจ้งเกิดได้ ก็อาจจะเป็นเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆของไทยที่มีโอกาสทางการตลาดสูง

อีไอซี ระบุว่า ธุรกิจคาร์แชริ่งในไทยยังพบว่ามีข้อจำกัดทั้งการครอบคลุมของระบบขนส่งสาธารณะและปริมาณจุดจอดรถไม่เพียงพอ อีกทั้งไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในไทยได้มากนัก และภาครัฐยังกำหนดเพดานค่าโดยสาร

ทั้งนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมากและมีระบบขนส่งสาธารณะในหลากหลายรูปแบบ ทั้งระบบรางอย่าง BTS,MRT, เรือด่วนคลองแสนแสบและแม่นํ้าเจ้าพระยา รวมไปถึงรถประจำทาง แต่ระบบขนส่งสาธารณะเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และไม่มีการเชื่อมโยงกันมากพอที่จะทำให้ผู้บริโภคพิจารณาลดการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

นอกจากนี้มาตรการควบคุมค่าบริการแท็กซี่ของภาครัฐในไทย ยังไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต่างจากประเทศในยุโรป และสหรัฐฯ

อีไอซี รายงานว่า คาร์แชริ่งเป็นธุรกิจให้บริการรถเช่าระยะสั้นที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยการให้บริการในรูปแบบ Business to Consumerเติบโต 39% ต่อปี โดยธุรกิจมีรูปแบบการให้บริการ 2 ประเภท คือ1. รูปแบบ Peer to Peer (P2P)และ 2.รูปแบบ Business to Consumer (B2C)ที่พัฒนามาจากรูปแบบแรก

ปัจจุบันธุรกิจคาร์แชริ่งมีสมาชิกทั่วโลกรวมประมาณ 6 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคนภายในปี 2020 โดยในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีอัตราการเติบโตของจำนวนสมาชิกจากปี 2012-2015 สูงถึง 65% ต่อปี มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดที่ 2.3 ล้านคนรองลงมาเป็น ยุโรป 2.2 ล้านคน และอเมริกาเหนือ 1.6 ล้านคน และรถที่ให้บริการรวม 1 แสนคัน

ประเทศที่การให้บริการคาร์แชริ่ง เติบโตมีองค์ประกอบ 4 ด้านคือ1.ความหนาแน่นของประชากรสูง2.ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมในหลากหลายพื้นที่ 3.นโยบายและการรณรงค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และ 4.ปริมาณจุดจอดรถสาธารณะที่ครอบคลุมในหลากหลายพื้นที่ โดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดเตรียมจุดจอดรถพิเศษสำหรับรถยนต์ที่ให้บริการคาร์แชริ่ง โดยเฉพาะ

นอกจากนี้สัดส่วนของประชากรgen Y เมืองใหญ่มีแนวโน้มจะปรับตัวไปสู่การเดินทางในระบบสาธารณะมากยิ่งขึ้น แนวโน้มใช้รถยนต์ส่วนตัวลดลงแต่ gen Y กทม.ยังนิยมใช้รถส่วนตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560