ปั้นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เชื่อมโยงทุกมิติจีน-อินเดีย-กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง

22 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
คมนาคมเดินหน้าปั้นแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจล้านนา “อาคม” นำทีมผนึกกงสุล 3 ชาติ อินเดียเมียนมา และจีนจัดสัมมนา “ภาคเหนือเตรียมรับอนาคต : The Northern Connect” ประเดิมที่เชียงราย 21 เม.ย.นี้

รศ.มานพ พงศทัต ที่ปรึกษาโครงการจัดสัมมนา “The Northern Connect : ภาคเหนือเตรียมรับอนาคต” ของกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยจะนำทีมผู้บริหารร่วมกับกงสุลพาณิชย์ของจีน และกงสุลอินเดีย กงสุลใหญ่เมียนมาจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้นในวันที่ 21 เมษายนนี้ที่จังหวัดเชียงราย โดยเชิญผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานหลัก นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะเขตพื้นที่จังหวัดภาคเหนือเข้ารับฟังในครั้งนี้อย่างเต็มที่

สำหรับวัตถุประสงค์ในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีกลางในการระดมความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ และมุมมอง ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและของกระทรวงที่กำหนดไว้ ประการสำ คัญภายใต้ยุทธศาสตร์ “One Transport:One Development” ภาคเหนือตอนบนได้ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นด่านแรกที่ช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสเชื่อมโยงโครงข่ายกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง รวมถึงอาเซียนและอินเดีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งฝ่ายจีนมีแผนยุทธศาสตร์ One Belt One Road เอาไว้อีกด้วย

“ภาคเหนือมีศักยภาพสูงเหมาะแก่การพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มีความสมบูรณ์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บริการด้านสุขภาพ ด้านการศึกษาการผลิตสินค้าสร้างสรรค์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง การเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เชื่อมต่อไปยังจีนและอินเดียได้ง่าย จึงเป็นฮับด้านเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมืองหลักอย่างเชียงรายที่มีประชากรราว 1.2 ล้านคน เชียงใหม่ 1.7ล้านคน และลำปางกว่า 7.5 แสนคน โดยจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ จัดเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า มีการลงทุนมีด่านการค้าที่สำคัญ และกำลังได้รับการยกระดับให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในปัจจุบันนอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงการพัฒนากับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาลได้อีกด้วย”

โดยโครงข่ายสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ เส้นทาง R3A เชื่อมจากภาคตะวันตกของจีนผ่านสปป.ลาวมายังประเทศไทยระยะทาง 1,887 กิโลเมตร ส่วนการสัมมนาครั้งนี้ได้คัดเลือกโครงการสำคัญนำเสนอ เพื่อเป็นโมเดลไปขับเคลื่อนการพัฒนาในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศประกอบด้วยโครงการตามแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมพ.ศ.2560 คือ โครงการศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ มูลค่า 2,365 ล้านบาท ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้ประกาศขายเอกสารประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างระยะที่ 1 ไปแล้วเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและการศึกษาความเหมาะสม ประกอบด้วย การขยายทางหลวงหมายเลข 12 สายแม่สอด-ตาก ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 76.13 กิโลเมตร ใช้งบประมาณราว7,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2561 นี้

โครงการก่อสร้างถนนทางเลี่ยงเมืองแม่สอดและสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาข้ามแม่นํ้าเมยแห่งที่ 2 เชื่อมอ.แม่สอด จ.ตาก กับจ.เมียวดี(เมียนมา) ระยะทาง 21.40 กิโลเมตร จัดเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกของรัฐบาล คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2562 นี้

โครงการมอเตอร์เวย์สายแม่สอด-ตาก ระยะทาง 80 กิโลเมตร แนวเส้นทางใหม่เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและการค้าชายแดนเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี(เมียนมา)กำหนดศึกษาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาท

โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เส้นทางนี้ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่พะเยา และเชียงราย ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากเชียงใหม่-เชียงรายไม่ถึง 2 ชั่วโมงระยะทาง 185 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบกว่า 1 แสนล้านบาท ใช้ระยะเวลาการศึกษาความเหมาะสมจำนวน 18 เดือน

นอกจากนั้นยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากนํ้าโพ-เด่นชัยระยะทาง 285 กิโลเมตร กำหนดจัดประกวดราคาในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมนี้ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตรกำหนดจัดประกวดราคาในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคมนี้ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 325 กิโลเมตร คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2560 นี้ และโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก)มูลค่า 2.24 แสนล้านบาทอยู่ระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นส่งรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมให้ฝ่ายไทยในเดือนมิถุนายนนี้

สำหรับการพัฒนาทางนํ้าได้มีการพัฒนาท่าเรือเชียงแสนและท่าเรือเชียงของรองรับไว้แล้วเช่นเดียวกับแผนการพัฒนาทางอากาศ ได้มีโครงการปรับปรุงสนามบินแม่สอดเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จในปีหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560