"ณัฐธิดา สงวนสิน" กล้าผิดเพื่อการเติบโตและมีนวัตกรรม

22 เม.ย. 2560 | 03:00 น.
การบริหารงานในโลกยุคดิจิตอลที่ว่า ต้องเร็วและนำเทรนด์ แล้ว หากเมื่อมาเทียบกับคนที่ทำงานอยู่บนสื่อดิจิตอล ยิ่งต้องเร็วและนำเทรนด์มากยิ่งกว่า เรียกว่าหยุดนิ่งไม่ได้เลยทีเดียว และนั่นคืองานของผู้บริหารหญิง "คุณพิงค์ - ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด ทำอยู่

เธอเล่าว่า บัซซี่บีส์ (Buzzebees) คือ ผู้พัฒนาระบบแพลตฟอร์มในด้าน CRM Privilege เพื่อให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ งานนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ "คุณพิงค์" มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ หลังจากที่เห็นว่าเทรนด์มือถือกำลังมาแรง ก็มานั่งคิดว่าควรจะทำอะไรดีที่อยู่ในกระแส และสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน การซื้อมาขายไปไม่ยั่งยืน การสร้างแอพพลิเคชันมาขาย ก็เป็นหนึ่งในการซื้อมาขายไป และอายุการใช้งานของแอพพลิเคชันหลายๆ ตัว ก็สั้น นั่นก็ไม่ยั่งยืนอีกเช่นกัน จากจุดนั้น จึงทำให้เกิดโมเดลของ บัซซี่บีส์ ขึ้นมา

โมเดลของบัซซี่บีส์ ก็คือ การสร้างแอพลิเคชันที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่ายพร้อมกัน... สิ่งที่เราคิดคือ จะมีผู้ได้ประโยชน์กับ 3 ฝ่าย ฝ่ายแรก คือ แบรนด์ ที่อยู่บนบัซซี่บีส์ ฝ่ายที่ 2 คือ ลูกค้า ที่เข้ามาใช้แอพของบัซซี่บีส์ และ ฝ่ายที่ 3 คือเอสเอ็มอี ซึ่งจะมีสินค้าไปซัพพอร์ตสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า

เมื่อก่อนแบรนด์จะสื่อสารกับผู้บริโภคยากมาก บัซซี่บีส์ เลยเข้ามาตอบโจทย์ ด้วยการทำโมบายแอพ ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้แบบถึงตัว แต่การยิงข้อมูล ยิงโฆษณาถึงผู้บริโภค ผู้บริโภคก็ไม่อยากได้ และอาจก่อให้เกิดความรำคาญ...งั้นจะทำอย่างไรดี ให้ความจงรักภักดีอยู่ในใจผู้บริโภคตลอดเวลา ก็เลยคิดเรื่องคะแนนสะสม เพื่อให้ลูกค้าเก็บคะแนนสะสม แล้วไปแลกเป็นสิทธิประโยชน์ อันนี้เป็นบิซิเนสโมเดลแรกที่บัซซี่บีส์ทำ

"สมัยนี้ข้อมูลเข้ามาหาเราเยอะไปหมด แต่จะเข้าไปหาแต่คนอย่างไร ไม่ให้เป็นขยะ นี่คือสิ่งที่เราทำ และตอนนี้ บัซซี่บีส์ สามารถทำข้อมูลไม่ให้เป็นขยะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลาเราทำโปรโมชันจะตอบโจทย์ผู้บริโภค แบรนด์ก็นำนวัตกรมเหล่านี้ไปใช้ โปรโมชันต่างๆ ก็จะถูกลงๆ หรืออาจจะจ่ายเท่าเดิม แต่เข้าตรง ถูกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น"

โมเดลธุรกิจของบัซซี่บีส์ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจาก เฟซบุ๊กและไลน์ และเป็นอับดับ 1 สำหรับแพลตฟอร์มของคนไทย ทั้งในแง่รายได้ และคนผู้ใช้งาน โดยขณะนี้มีแบรนด์กว่า 40 แบรนด์ ที่ให้บัซซี่บีส์ทำหน้าที่บริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ อาทิ ปตท. มี้ด จอห์นสัน ซัมซุง ธนาคารกสิกรไทย ดีแทค แมคโดนัลด์

จากโมเดลธุรกิจที่สนองตอบด้น CRM Privilege ให้กับแบรนด์ต่างๆ ทำให้ตอนนี้ บัซซี่บีส์ เป็นผู้ที่เชื่อมต่อกับธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด และกลายเป็นผู้มีเน็ตเวิร์กในการรับ Privilege หรือสิทธิประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุด การเติบโตของธุรกิจเป็นไปแบบก้าวกระโดด บัซซี่บีส์เติบโต 3 เท่ามาตลอด 4 ปี ปีแรกมีรายได้ประมาณ 1.5 ล้านบาท ปีที่ 2 กลายเป็น 50 ล้านบาท ปีที่ 3 ขยับมาเป็น 150 และปีที่แล้ว 370 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้า 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทเริ่มมีกำไรตั้งแต่ปีที่ 3

การที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้ต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดไป "คุณพิงค์" ไม่เคยหยุดนิ่งในการคิดอะไรใหม่ๆ ให้กับคู่ค้า ในฐานะที่เป็น "ออนไลน์มีเดีย" ที่ใหญ่ที่สุด เธอได้พัฒนาต่อยอดมาทำ ออนไลน์เซอร์เวย์ คุยกับเจ้าของงานวิจัยต่างๆ คุยกับบริษัทวิจัย ทำ counsumer insight behavier

"บัซซี่บีส์ เป็นเหมือนถนน เราสร้างทางด่วนไว้ ใครมาวิ่งบนทางด่วนก็ได้ เราช่วยทุกคนให้มีบิซิเนสที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น นั่นคือ จุดมุ่งหมายของเรา ที่ทำมาผลตอบรับดีมาก ยอดขายดีมาก แต่ในทุกอันที่ดีมาก บนดิจิตอลมันเปลี่ยนเร็ว เราก็ต้องพัฒนาอะไรใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา มันเป็นความท้าทาย แต่เดือน เราลอนช์แอพ ใหม่ 2 แอพ แนวทางต่อปี เราทำนวัตกรรมใหญ่ๆ 2-3 นวัตกรรม เช่น ปีนี้ ทำ Big Data ดูพฤติกรรมผู้บริโภค เราใช้ฐานของเรา แล้วเก็บสร้างเป็น engine ของตัวเอง แล้วใช้เสนอเป็นสิทธิประโยชน์ให้ลูกค้า"

"คุณพิงค์" ยังเล่าต่ออีกว่า หลังจากที่มี Big Data แล้ว จะต่อยอดมาเป็น Unstructured Data หรือข้อมูลที่ไม่เป็นรูปแบบโครงสร้าง ซึ่งเป็นแท็กพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยู่บนออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เสนอข้อมูลที่ตรงกับใจเราตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะเขาเก็บข้อมูล เวลาคนดูแล้วฟีดอะไร หยุดดูอะไร เพราะฟีดอื่นคุณสกอร์เร็ว แต่ฟีดนี้คุณหยุด แล้วกด แล้วมาแชร์ไลท์ คอมเมนต์ ตรงนี้ เก็บมาเป็นข้อมูลหมด คุณกินโดนัท คุณช็อปในเซ็นทรัล แล้วคุณก็ดูหนัง เราแท็กโพรไฟล์ของคุณออกมาได้เลย

ฐานข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้การทำ CRM Privilege ของแบรนด์ต่างๆ ตรงใจและเข้าถึงพฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เป็นแบบจำลองเชิงพยากรณ์ (Predictive Model) ที่แบรนด์ไม่ต้องรู้จักชื่อคุณ แต่รู้พฤติกรรมคุณ วิเคราะห์ความต้องการของคุณได้ตรงเป้า

[caption id="attachment_141769" align="aligncenter" width="503"] ณัฐธิดา สงวนสิน กล้าผิดเพื่อการเติบโตและมีนวัตกรรม ณัฐธิดา สงวนสิน กล้าผิดเพื่อการเติบโตและมีนวัตกรรม[/caption]

การที่ "คุณพิงค์" สามารถคิดและพัฒนาชิ้นงานได้อย่างไม่หยุดนิ่ง เธอบอกว่า เกิดจากการเป็นนักอ่านที่ดี การศึกษาดูทิศทาง และแนวโน้มของตลาดว่าเป็นอย่างอยู่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องจบมาตรงสาขา แต่ต้องรู้จักเรียนรู้ และเรียนรู้ได้เร็ว คนที่บัซซี่บีส์เลือกเข้าทำงานด้วย ต้องเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว เพราะเขาจะจับเทรนด์ทัน นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารคนนี้ต้องการ มากกว่าคนที่มีประสบการณ์แต่ไม่เรียนรู้

อีกสิ่งหนึ่งที่ "คุณพิงค์" ใช้เป็นแนวทางการบริหารงานและบริหารคน คือ การกล้าทำกล้าผิด เพราะมันคือสิ่งที่จะทำให้คนเกิดการเรียนผิดเรียนถูก หากมีวิสัยทัศน์ ก็ลองทำเลย เรายอมเสียเล็กๆ แล้วเปลี่ยนเร็วๆ...ที่ผ่านมา ตัวเธอเองก็เคยพลาด ทำให้รู้สึกท้อแท้บ้าง แต่มันต้องทำ ผิดปุ๊บก็รีบแก้ไข รู้แล้วว่าทางนี้ตัน ก็เปลี่ยนทางใหม่ ธุรกิจนี้ต้องเป็นแบบนี้ ดิจิตอล ออกมา 3 วัน ไม่ตอบสนอง ก็ต้องรีบเปลี่ยน เรามอนิเตอร์กันวันต่อวัน

"อย่าเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูด อย่าเชื่อในสิ่งที่เจ้านายสั่ง ทุกอย่างต้องคิดเอง ถ้าคิดเองแล้ว Make Sense ถึงทำนะ ถ้าสั่งงานไป แล้วทำมาแบบไม่เข้าใจจะโกรธมาก ต้องพยายามเข้าใจก่อน เวลาเราสั่งงาน จะสั่ง 10 เลยว่าเราต้องการอะไร บริษัทเราไม่มีเทรนนิ่ง เพราะตั้งใจให้กล้าผิด ไม่กล้าผิดไม่โต ไม่กล้าผิด ไม่มีนวัตกรรม เรามีกลไกในการคุมมันอยู่แล้ว ทุกเดือนจะมีคัมปะนีปรีฟวิ่ง ต้องกล้าทำผิด เราต้องเป็นที่ 1 อย่าทำงานเพื่อเป็นที่ 2 ถ้าไม่ตั้งเป้าว่าจะเป็นที่ 1 ก็ไม่มีวันที่เป็นที่ 1 ได้"

รูปแบบการทำงานที่กล้าคิด กล้าทำ และปรับตัวอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ธุรกิจของ "บัซซี่บีส์" เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่เฉพาะตลาดในเมืองไทย แต่ยังขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศแล้วทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา กัมพูชา กานา แคเมอรูน ไอเวอรีโคสต์ ฟิลิปปินส์ และเธอยังพร้อมที่จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ เมื่อเห็นช่องทางที่ดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560