‘คาร์ลสัน เรซิดอร์’ เล็งปักธงแบรนด์ใหม่ในไทยเพิ่มอีก 3 เท่าตัว

22 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
การปักธงของ “คาร์ลสัน เรซิดอร์” เชนบริหารโรงแรมสัญชาติมะกัน ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันรับบริหารอยู่แล้ว 5 แห่ง ซึ่งทิศทางการขยายธุรกิจของเชนนี้ ไม่ได้หว่านเจาะตลาดในทุกเซ็กเมนต์เหมือนเชนระดับโลกอื่นๆที่รุกเข้ามาชิงตลาดการรับบริหารโรงแรมไทย เพราะจุดโฟกัส จะเลือกเฉพาะกลุ่มระดับมิดสเกลขึ้นไปเท่านั้น เนื่องจากเป็นกลุ่มเซ็กเมนต์ที่เติบโตสูงในไทยและตรงคอนเซ็ปต์กับแบรนด์ต่างๆของคาร์ลสัน เรซิดอร์ อ่านได้จากสัมภาษณ์นายทรอสเทนคริสเชิร์ค ประธานประจำภูมิภาคเอเชีย กลุ่มโรงแรมคาร์ลสันเรซิดอร์

 ขยายแบรนด์ในไทย15 แห่ง
คุณคริสเชิร์ค ฉายภาพรวมของโรงแรมต่างๆภายใต้เชนคาร์ลสัน เรซิดอร์ ให้เราฟัง มีโรงแรมอยู่กว่า 1,400 แห่งใน 115 ประเทศทั่วโลกโดยมีแบรนด์บริหารทั้งหมด 7 แบรนด์ ได้แก่ คัว วัช คอลเลกชั่น,เรดิสัน บลู,เรดิสัน เรด,เรดิสัน ,พาร์ค พลาซ่า,คันทรี อินน์แอนด์สวีท บาย คาร์สัน และ พาร์คอินน์ บาย เรดิสัน ที่แบรนด์ต่างๆจะเน้นกลุ่มลูกค้าในระดับกลาง(มิดสเกล)ไปจนถึงกลุ่มระดับกลางบนขึ้นไปซึ่งในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก จัดว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพมากในการขยายเครือข่ายของเชนคาร์ลสัน เรซิดอร์ และปัจจุบันมีโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมกว่า 200 แห่งในภูมิภาคนี้

สำหรับในไทย เรามีโรงแรมภายใต้การบริหารงาน 5 แห่ง (ตารางประกอบ) ในแบรนด์เรดิสัน บลู, พาร์ค พลาซ่า และเรดิสัน ซึ่งมาในตลาดโรงแรมไทยมานานแล้ว และเรามองเห็น การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่จัดว่ามีความแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีการเติบโตที่ดีในระยะยาว เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี ดังนั้นเรามีแผนจะขยายแบรนด์ในไทย เพิ่มขึ้นอีก โดยจะเพิ่มเป็น 12-15 แห่งในช่วง 3-5 ปีนี้ จากปัจจุบันมี 5 แห่ง หรือเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการในไทยหลายราย ในโลเกชัน พัทยา กรุงเทพฯ ภูเก็ต ทั้งยังสนใจ ตลาดเชียงใหม่ และเมืองย่อยอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะการเจรจาจะไม่จบสิ้นจนกว่าหมึกจะแห้ง หรือจนกว่าจะมีการลงนามร่วมกันเกิดขึ้น

[caption id="attachment_141757" align="aligncenter" width="503"] ‘คาร์ลสัน เรซิดอร์’ เล็งปักธงแบรนด์ใหม่ในไทยเพิ่มอีก3เท่าตัว ‘คาร์ลสัน เรซิดอร์’ เล็งปักธงแบรนด์ใหม่ในไทยเพิ่มอีก3เท่าตัว[/caption]

 เล็งเปิด 2 แบรนด์ใหม่ในไทย
เขาย้ำว่า แบรนด์ที่เหมาะกับตลาดโรงแรมไทย คือ “แบรนด์เรดิสัน บลู”เพราะเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับโรงแรมในเมืองและรีสอร์ต อีก 2 แบรนด์ที่เรามองว่าจะนำเข้ามาเปิดตลาดรับบริหารโรงแรมในไทยได้ และจะเป็นแบรนด์ใหม่ในไทยด้วย คือ “แบรนด์เรดิสัน เรด” เพราะเป็นแบรนด์ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในเมือง ที่มุ่งเจาะกลุ่มมิลเลนเนียน (กลุ่มคนอายุ20-34 ปี) และเราก็มีแบรนด์ระดับกลางที่เหมาะกับเมืองที่ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวงที่มีโอกาสคือ“แบรนด์พาร์ค อินน์”

“จุดแข็งของคาร์ลสัน เรซิดอร์ คือ ฐานลูกค้าระดับบน (UPPER SCALE) ในแถบสแกนดิเนเวีย และยุโรป ดังนั้นการขยายเครือข่ายโรงแรมในภูมิภาครวมถึงในไทย ก็จะช่วยดึงกลุ่มตลาดเหล่านี้เข้ามาเป็นลูกค้าของโรงแรมต่างๆที่เราเข้าไปรับบริหาร”

ขณะเดียวกันเขายังมองว่าแม้ประเทศไทย จะเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ขึ้นลงได้ไวมาก แต่ว่าจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าไทยสามารถจะดีดตัวกลับมาค่อนข้างจะรวดเร็ว เช่น เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วภายในไตรมาสเดียว ตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยก็มากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเป็นอะไรที่เร็ว โดยเฉพาะการเติบโตในธุรกิจของการท่องเที่ยวเติบโต 7 – 14 % ในปีต่อปีเป็นตัวเลขค่อนข้างที่จะสูง ดังนั้นการที่โรงแรมในไทย มีภาวะโอเวอร์ซัพพลายเป็นหย่อมๆ แต่ผมก็ยังเห็นว่าความต้องการในการเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย ยังไงก็มากกว่าโอเวอร์ซัพพลายตรงนั้น

ทั้งยังเห็นว่าเป็นการออกมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ เป็นการทำที่กล้าหาญจากรัฐบาลไทย ที่น่ายกย่อง เพราะเรื่องคอร์รัปชันทั้งหลาย ควรถูกปราบปรามอย่างแท้จริง ซึ่งผลกระทบก็เป็นแค่ระยะสั้นที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนจะลดลง แต่มีความเชื่อว่าประเทศจีนก็ยังมีความเติบโตมากกว่าเดิม ซึ่งเขาเปรียบเปรยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับการเอาแอปเปิลที่เน่าออกจากตะกร้าแล้วก็โปรโมตพัฒนาธุรกิจอย่างแท้จริง และการทำแบบนี้ของรัฐบาลก็ควรที่จะมีการซัพพอร์ตต่อๆไป

 ยันไม่เจาะตลาดล่าง
ทิศทางการดำเนินธุรกิจของคาร์ลสัน เรซิดอร์ เราไม่มีแบรนด์บริหารโรงแรมในระดับล่างหรือบัดเจ็ต โฮเต็ล แม้ว่า ตลาดในเซ็กเมนต์ มีการเติบโตอยู่ทั่วโลกรวมถึงในไทย ซึ่งแบรนด์ระดับต่ำสุดที่เรามี คือ คันทรี อินน์ก็ยังจัดว่าเป็นโรงแรมระดับกลางอยู่ ซึ่งเราไม่อยากทำตัวเองให้กว้างเกินไป เหมือนวงล้อ แต่เรามีจุดโฟกัสที่แบรนด์ระดับกลาง ที่ยั่งยืน เราจึงมองที่จะขยายแบรนด์เรดิสัน และเรดสัน บลู ในประเทศที่มีการเติบโตมากกว่า

อีกทั้งเรายังไม่ได้มุ่งเรื่องของการเปิดแบรนด์ใหม่มากมาย โดยผมไม่เชื่อว่าการที่มีแบรนด์เล็กๆน้อยๆ 25 แบรนด์ในบริษัทเดียวเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าในแต่ละแบรนด์ไม่สามารถที่จะทำตัวเองให้แต่ต่างจากแบรนด์อื่นแล้วตอนจบก็จะกลมกลืนและกินกันเอง เขาเชื่อว่าถ้าเรามี 1 หรือ 2 แบรนด์ที่เข้มแข็งแล้วก็พัฒนาธุรกิจจากตรงนั้นได้

ดังนั้นการมีแบรนด์น้อยแต่แข็งแรงกว่า ดีมีมีแบรนด์เยอะๆแล้วไม่สามารถจะบ่งบอกได้ว่าแตกต่างกันอย่างไรและเราไม่อยากให้เปรียบเทียบกับคู่แข่ง เพียงแค่จำนวนโรงแรมที่มีในบริษัทเท่านั้น แต่อยากจะให้เห็นว่าเราเป็นบริษัทที่โปร่งใส และสามารถที่จะเข้าถึงความต้องการของเจ้าของทุกโรงแรม

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการขยายเครือข่ายของเชนคาร์ลสัน เรซิดอร์ ที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560