ตลาดซื้อขายลิขสิทธิ์ไทยโต LIMA เผยติดอันดับ 37 โลก-มูลค่า 18,000 ล้าน

21 เม.ย. 2560 | 08:00 น.
องค์กรอุตสาหกรรมการใช้ลิขสิทธิ์ระดับโลก “LIMA” เผยผลสำรวจล่าสุด ภูมิภาคเอเชียโตสวนกระแสตลาดโลก ชี้ไทยมีอัตราขยายตัวสูงคิดเป็นมูลค่าราว 18,000 ล้านบาท เป็นอันดับ37 ของโลก ไลเซนส์ตลาดสินค้ากลุ่มบันเทิงใหญ่สุด

นายชาร์ลส์ เอ็ม ริอ็อตโต้ ประธานบริหารและซีอีโอ International Licensing Industry Merchandisers' Association (LIMA) องค์กรการค้าใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการใช้ลิขสิทธิ์ระดับโลก เปิดเผยว่า แนวโน้มด้านลิขสิทธิ์ไลเซนซิ่ง ซึ่งรวมถึงการต่อยอดดิจิตอลคอนเทนต์ที่เป็นตัวการ์ตูนต่างๆ นับเป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับของอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ ปัจจุบันอิทธิพลของการให้ลิขสิทธิ์ไลเซนซิ่ง นับเป็นรูปแบบการทำตลาดร่วมสมัยและการขยายแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นที่ทรงพลังที่สุด หากทำได้จะประสบความสำเร็จและมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เพิ่ม

สำหรับภาพรวมตลาดการซื้อขายสินค้าลิขสิทธิ์ที่ได้จากการสำรวจทั่วโลก ในปี 2558 นั้นพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 251,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 8 ล้านล้านบาท นับเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่มาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถเข้าได้จะช่วยเสริมช่องทางการเพิ่มรายได้จากธุรกิจไลเซนซิ่งได้ ขณะที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีรายได้จากค่าธรรมเนียม/ค่าเช่าใช้ลิขสิทธิ์ทั่วโลก ในรอบปีดังกล่าวสูงถึง 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 488,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการสำรวจแบ่งสัดส่วนเป็นรายภูมิภาคแล้วสหรัฐฯและแคนาดา ยังเป็นตลาดที่มีรายได้จากการขายสินค้าลิขสิทธิ์ใหญ่สุด 58% ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(รวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) มีสัดส่วนราว 3%ของมูลค่าตลาดโลก ล่าสุดพบว่าตลาดภูมิภาคอื่นเริ่มชะลอตัวและโตในเลขหลักเดียว สวนทางกับตลาดเอเชีย-แปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขยายตัว 12%ขณะเดียวกันผลสำรวจของ LIMA พบว่า ในปี 2558 ไทยมีการซื้อขายสินค้าลิขสิทธิ์ 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 18,000 ล้านบาท ติดอันดับ 37 ของโลก ขยายตัวเป็นอันดับ 1 ในอัตรา 25.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากค่ายดิสนีย์ รุกหนักกับการทำตลาดในไทยช่วงที่ผ่านมา

“แนวโน้มดังกล่าวยังเป็นการสร้างโอกาสในการทำรายได้จากอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ให้สูงขึ้น ดึงดูดให้หลายๆ บริษัทอยากเข้ามาตลาดไทยมากขึ้น เพราะยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก เมื่อประเมินจากอัตราการซื้อสินค้าลิขสิทธิ์ต่อประชากรของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ปีละ 7.62 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับสิงคโปร์หรือออสเตรเลียที่อยู่ 120-180 ดอลลาร์สหรัฐฯ”

ปัจจุบัน กลุ่มสินค้าไลเซนส์มีหลากหลายกว่า 20 ประเภท แต่กลุ่มสินค้าที่ใหญ่สุด คือ ด้านบันเทิง คิดเป็นสัดส่วน 29% โดยมีค่ายดิสนีย์ เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในอุตสาหกรรมให้เช่าใช้ลิขสิทธิ์ มีส่วนแบ่ง 17% ของตลาดสินค้าลิขสิทธิ์ทั่วโลกที่มีกว่า 8 ล้านล้านบาท ตามด้วยลิขสิทธิ์ที่เป็นแบรนด์บริษัทกลุ่มแฟชั่น และกีฬา

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ซึ่งสามารถต่อยอดตัวการ์ตูนที่พัฒนาขึ้นสู่ธุรกิจใหม่ และการขายลิขสิทธิ์สู่ตลาดต่างประเทศได้ ได้แก่ ตัวการ์ตูนกระต่าย Bloody Bunny ของบริษัท ทูสปอต คอมมิวนิเคชั่น ที่แตกไลน์สู่การขายลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของสินค้า บริการอื่นทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดสู่การเป็นสติกเกอร์ไลน์ และแตกธุรกิจเป็นร้าน Bloody Bunny & Friends Cafe นอกจากนี้ ยังมีตัวการ์ตูนปังปอนด์ ของค่ายวิธิตา ซึ่งต่อยอดจากตัวละครในหนังสือการ์ตูน มาสู่แอนิเนชั่น 3 มิติ และขยายสู่การขายลิขสิทธิ์ให้กับอีกหลากหลายธุรกิจ เป็นต้น

ด้านนายมนต์ชัย ศรีเจริญศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด 2 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าววว่าดิจิตอลคอนเทนต์เป็น 1 ใน 5 ของ New S Curve ที่เป็นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการพัฒนาและผลิตสินค้า หรือบริการใหม่ๆ จากธุรกิจเดิมให้มีมูลค่ามากขึ้น ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เป็นกรอบการขับเคลื่อนประเทศ โดยผลการสำรวจปี 2558 พบว่าดิจิตอลคอนเท้นต์ มีมูลค่าตลาดรวม 12,000 ล้านบาท และพบว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากลในการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งมีข้อมูลการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้การจัดงาน BIDC 2017 ที่ผ่านมาเป็นการรวมผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับภาพใหญ่ของประเทศ และจะเป็นจิ๊กซอว์ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น

[caption id="attachment_141738" align="aligncenter" width="503"] ตลาดซื้อขายลิขสิทธิ์ไทยโต LIMA เผยติดอันดับ 37 โลก-มูลค่า 18,000 ล้าน ตลาดซื้อขายลิขสิทธิ์ไทยโต LIMA เผยติดอันดับ 37 โลก-มูลค่า 18,000 ล้าน[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560