เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกแฟชั่น

22 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
ขณะที่ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นรายใหญ่เป็นผู้ออกแบบเทรนด์และผู้บริโภคส่วนใหญ่วิ่งตามแฟชั่น ฟาร์เฟ็ตซ์ (Farfetch) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับช็อปปิ้งสินค้าแฟชั่นสุดหรูสัญชาติอังกฤษ จึงเดินหน้านำเสนอช่องทางการเข้าถึงแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็วๆนี้ ฟาร์เฟ็ตซ์ประกาศจับมือกับกุชชี่ (Gucci) บริษัทสินค้าแบรนด์แนมของอิตาลี ที่ให้บริการจัดส่งสินค้าภายใน 90 นาที ปัจจุบันมีบริการจัดส่งใน 10 เมืองทั่วโลก ได้แก่ ลอนดอน ปารีส มาดริด มิลาน นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส ไมแอมี ดูไบ โตเกียว และเซาเปาลู ในบราซิล โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นผ่านแอพพลิเคชั่นฟาร์เฟ็ตซ์หรือเว็บไซต์และระบุสถานที่รับสินค้า พนักงานขับรถส่งของฟาร์เฟ็ตซ์ก็จะส่งให้ถึงที่หมาย

ความน่าสนใจของฟาร์เฟ็ตซ์อยู่ตรงที่เป็นการผนวกแฟชั่นเข้ากับเทคโนโลยีให้ออกมาเป็นคอนเซปต์ของร้านค้าแห่งโลกอนาคต (The Store of the Future) ด้วยการเชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน จากการรวบรวมเสื้อผ้าแบรนด์ดังและร้านเสื้อผ้าดีไซเนอร์อิสระใน 40 ประเทศไว้ในที่เดียว เช่น ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส ลอสแองเจลิส ไมอามี มาดริด มิลาน บาร์เซโลนา และโรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการนำเสนอแบรนด์ของฟาร์เฟ็ตซ์ ด้วยการนำเสื้อผ้าแฟชั่นที่หลากหลายและแตกต่างมารวมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งของลูกค้ารูปแบบใหม่ ให้ได้เพลิดเพลินไปกับการเลือกซื้อสินค้าราคาพิเศษบนแพลตฟอร์มเดียวกัน

นอกจากช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์แล้ว บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ การนำแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนมาสแกนตอนเข้าร้าน จากนั้นก็เดินเลือกสินค้า การเช็คประวัติการซื้อสินค้าครั้งก่อน ชั้นวางเสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อบันทึกรายการที่ลูกค้าเลือกมาเก็บไว้ในแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนของลูกค้าและย้ายมารายการสินค้าที่ต้องการซื้อ
ฟาร์เฟ็ตซ์เปิดตัวตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันจึงมีพนักงานมากกว่า 1,000 ราย มีบริการจัดส่งสินค้ากว่า 190 ประเทศ และบริษัทมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ขณะที่พันธมิตรร้านค้าของฟาร์เฟ็ตซ์ได้รับการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี มากกว่า 1,500 แบรนด์ ทั้งสินค้าแฟชั่นสำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี อาทิ ร้านเสื้อผ้าดังอย่างบราวนส์ (Browns) ในลอนดอน เอช โลเรนโซ (H. Lorenzo) จากแอลเอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ฟาร์เฟ็ตซ์ กรุ๊ป เติบโตขึ้นกว่า 70% เมื่อพิจารณาจากมูลค่าของสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท ส่งผลให้มียอดขายรวมทั้งสิ้น 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.8 หมื่นล้านบาท) โดยลูกค้าของฟาร์เฟ็ตซ์ส่วนใหญ่สั่งซื้อสินค้าเป็นเงินเฉลี่ย 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,500 บาท) ต่อออเดอร์

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งแบรนด์สุดหรูอย่างแอฮเมส (Hermès) กำลังเริ่มทดสอบใช้หุ่นยนต์จากบริษัทสตาร์ชิป เทคโนโลยี บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ส่งของ ในการจัดส่งสินค้าในลอนดอน ภายใน 30 นาที โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถเคลื่อนที่ได้ทั้งบนถนนและใช้เซนเซอร์ในการตรวจจับวัตถุรอบข้าง เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางต่างๆ และสามารถบรรทุกสินค้าได้ถึง 9 กิโลกรัม ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทดสอบแล้วที่เมืองฮัมบวร์ค วอชิงตัน ดี.ซี. และแคลิฟอร์เนีย

สำหรับระบบการจัดส่งสินค้าแบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์คือ เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในการค้นหาที่อยู่ของลูกค้า โดยในช่วงเริ่มต้นหุ่นยนต์จะเดินทางไปพร้อมกับคนก่อน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในกรณีเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560