อสค.ขู่ตัดสิทธิ์นมโรงเรียนนอกลู่

21 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
โรงนมพาสเจอไรซ์บ่นอุบ หลังมิลค์บอร์ดแก้ปัญหานมล้นช่วงปิดเทอมสั่งให้จ้างโรงนมยูเอชทีผลิตเป็นนมกล่องเก็บสต๊อกต้องเช่าโกดังเก็บ ทำต้นทุนพุ่ง รับมีเจรจากับโรงเรียนยอมขายขาดทุนเพื่อให้มีสภาพคล่อง อ.ส.ค.กำชับใครนอกลู่ โทษหนักถูกตัดสิทธิ์

จากที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีมติให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนทุกราย ต้องนำน้ำนมดิบตามที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายน้ำนมดิบ (เอ็มโอยู) จากเกษตรกรมาผลิตและบรรจุเป็นนมกล่องยูเอชที หากรายใดเป็นโรงนมพาสเจอร์ไรส์ต้องไปจ้างโรงนมยูเอชทีผลิตแล้วเก็บไว้รอแจกเด็กช่วงเปิดเทอม เพื่อแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดในช่วงปิดเทอม ซึ่งปรากฎว่าสามารถแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ และจะนำแนวทางดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้งในปีนี้

แหล่งข่าวโรงนมพาสเจอร์ไรส์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า มาตรการดังกล่าวแม้จะได้ผลและสามารถแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด เกษตรกรไม่ต้องนำมาเททิ้ง แต่กลายเป็นผลักภาระให้กับโรงนมพาสเจอร์ไรส์ที่จะต้องไปจ้างโรงนมยูเอชทีผลิต ทั้งต้นทุนผลิตต่อกล่องก็สูง ต้องเช่าโกดังเก็บ ถ้าเก็บไม่ดีนมก็จะบูดง่าย ระยะเวลาเก็บ 40 วันจึงมีความเสี่ยง ยกตัวอย่างบางบริษัทต้องรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรตามเอ็มโอยูปริมาณ 30 ตัน/วัน สามารถผลิตเป็นนมยูเอชทีเพื่อส่งมอบช่วงเปิดเทอมได้ 5.8 ล้านกล่อง(คำนวณจากน้ำนมดิบ 1 ตันสามารถผลิตนมยูเอชทีได้ 4,900 กล่อง (ขนาด 200 มิลลิลิตร) คูณ 40 วัน)

"นมที่ผลิตต้องเช่าโกดังเก็บ และเงินก็จะไปจมอยู่ตรงนั้น ที่สำคัญพอโรงเรียนเปิดเทอมต้องส่งเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ นมกล่องที่ผลิตไว้จะทำอย่างไร ยอมรับว่าบางรายมีการไปเจรจากับทางโรงเรียนเพื่อขอส่งมอบเป็นนมกล่องยูเอชทีต้นทุนกล่องละ 7.82 บาท ในราคานมพาสเจอร์ไรส์ 6.58 บาท ยอมขาดทุน 1.24 บาทเพื่อให้มีสภาพคล่อง"

นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวว่า การแก้ปัญหานมล้นช่วงปิดเทอม โดยการให้ผู้ประกอบการนมทั้ง 70 รายต้องผลิตเป็นนมกล่องยูเอชที เป็นเพียง 1 ใน 4 แนวทางเพื่อแก้ปัญหานมล้นตลาด ยังมีอีก 3 แนวทางที่หากมิลค์บอร์ดให้ความเห็นชอบเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อาทิ สามารถขายน้ำนมดิบให้กับนมพาณิชย์ได้ หรือสามารถนำน้ำนมดิบไปบรรจุเป็นแบรนด์กลาง(แบรนด์สไมล์ มิลค์) และขายตลาดนมพาณิชย์ได้ เป็นต้น

ขณะที่ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะเลขานุการมิลค์บอร์ด กล่าวว่า ทางมิลค์บอร์ดให้มีมติเห็นชอบให้โรงนมพาสเจอร์ไรส์รับน้ำนมดิบจากเกษตรกรผลิตใส่กล่อง ยู.เอช.ที.เพื่อไว้แจกเด็กในช่วงเปิดเทอมเท่านั้น หากรายใดนำน้ำนมดิบไปจำหน่ายเป็นนมพาณิชย์ หรือไปทำวิธีอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากมิลค์บอร์ดจะมีโทษร้ายแรงที่สุดคือตัดสิทธิ์ออกจากโครงการนมโรงเรียน

"ได้ให้ผู้ประกอบการนำน้ำนมดิบผลิตเป็นนมโรงเรียนชนิด ยู.เอช.ที ช่วงปิดเทอมระหว่างวันที่ 1 เมษายน-10 พฤษภาคม 2560 รวม 40 วัน ระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคมนี้จะมีการตรวจนับผลิตภัณฑ์ เพื่อตรวจสอบว่าผู้ประกอบการโรงนมพาสเจอร์ไรส์ได้ว่าจ้างผลิตบรรจุนมกล่องจริงหรือไม่ ขณะที่ในวันที่ 23 เมษายนนี้จะมีการประชุมผู้ประกอบการที่ได้ยื่นความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 1/2560 โดยผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรฐานตามแผนพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560