มณฑลซานตง ตลาดกลาง-อุตฯยางพาราโลก

20 เม.ย. 2560 | 14:00 น.
จีนเป็นประเทศที่มีการนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ( 30% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก) ตามด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย มีการนำเข้ายางพาราเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จาก 4.7 ล้านตันในปี 2553 เป็น 6.7 ล้านตันในปี 2559 ซึ่งร้อยละ 70 นำเข้ามาจากประเทศอาเซียน เป็นการนำเข้าจากไทยมากสุดถึง 40% (2.6 ล้านตัน) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียลดลงแต่มีการนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว “มณฑลซานตงจะเป็นตลาดกลางและอุตสาหกรรมยางพาราของโลก” มีเหตุผลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ครับ

1.เส้นทางในการขนส่งยางพาราไทย 65% ส่งไปยังท่าเรือชิงเต่า (Qingdao Port) มณฑลซานตง (Shandong) ตามด้วยการส่งไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้ร้อยละ 10 และกว่างตุ้ง 5% ตามลำดับ ระหว่างท่าเรือแหลมฉบังไปท่าเรือชิงเต่ามีระยะทางเท่ากับ 4,970 กม. โดยใช้เวลา 12-20 วัน ปัจจุบันมณฑลซานตง มีท่าเรือทั้งหมด 29 ท่า สามารถรองรับการขนส่งสินค้าในแต่ละปีมากกว่า 200 ล้านตัน และมีเส้นทางการเดินเรือมากกว่า 130 เส้นทาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั่วโลก

สำหรับท่าเรือที่สำคัญมี 2 ท่าเรือ คือท่าเรือชิงเต่าโดยขนส่งสินค้าไปยังท่าเรืออื่นๆ 450 ท่าเรือ ใน 130 ประเทศทั่วโลก ความสามารถในการจัดการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 5.2 ล้านตู้ต่อปี และท่าเรือเยียนไถ มีความสามารถในการรองรับสินค้าได้ถึง 14-15 ล้านตัน

2.เป็นศูนย์กลางการผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน คิดเป็นร้อยละ 40 ของการผลิตทั้งหมด ตามด้วยการผลิตในมณฑลเจียงซู (Jiangsu) และ มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) เป็นต้น ตัวเลขของ “Statista” ปี 2557 จีนผลิตยางรถยนต์ 1,000 ล้านเส้น ปัจจุบันน่าจะผลิตเกิน 1,000 ล้านเส้น เช่น บริษัท Hangzhou Zhongce Rubber ที่ผลิตล้อรถยนต์อันดับ 1 ของประเทศจีน และติด 1 ใน 10 ของโลก ตั้งเมื่อปี 2501 มีพนักงาน 2 หมื่นคน ปี 2554 ผลิตล้อยางรถยนต์นั่ง 20.45 ล้านเส้น ล้อยางรถบรรทุก 15 ล้านเส้น และล้อรถมอเตอร์ไซด์และจักรยาน 80 ล้านเส้น บริษัท Cheng Shin Rubber Industry ผลิตยางรถจักรยานใหญ่ที่สุดของโลก ส่งออกไปขาย 150 ประเทศ ก่อตั้งเมื่อ 2510 บริษัท China GITI ตั้งเมื่อปี 2536 มีโรงงานการผลิต 5 โรงงานทั่วจีน และ 1 โรงงานในอินโดนีเซีย

บริษัท Shandong Triangle ตั้งเมื่อปี 2519 เน้นผลิตล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกปีละ 300,000 เส้น บริษัท Double Coin มีบริษัทที่ถือหุ้นรายใหญ่คือกลุ่ม Shanghai Huayi (Group) Company ผลิตล้อรถบรรทุก 2 ยี่ห้อดังคือ “Double Coin” และ “Warrior” สำนักงานใหญ่ตั้งที่เซี่ยงไฮ้ บริษัท Shandong Xingyuan Group ที่เป็นบริษัทผลิตเหล็กที่นำผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นส่วนประกอบ บริษัท Shandong Linglong ผลิตล้อยางเรเดียลปีละ 40 ล้านเส้น มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย Linglong International Tire Co., Ltd.( Thailand) ตั้งอยู่ที่ระยอง ที่ได้เดินเครื่องการผลิตในปี 2557

[caption id="attachment_141689" align="aligncenter" width="503"] มณฑลซานตง ตลาดกลาง-อุตฯยางพาราโลก มณฑลซานตง ตลาดกลาง-อุตฯยางพาราโลก[/caption]

บริษัท Aeolus Tire Co.ltd ตั้งเมื่อปี 2508 ที่เมืองเจิ้งโจว (Jiaozuo) มณฑลเห่อนาน (Henan) บริษัท Qingdao Double Star Tire ตั้งเมื่อปี 2539 ที่เมืองชิงเต่า ผลิตยางล้อรถยนต์ยี่ห้อ “DOUBLESTAR”, "DONGFENG" และ "AOSEN" นอกจากนี้ยังผลิตยางเรเรียลรถบรรทุก 5 ล้านเส้น ยางกึ่งเรเดียล 6 ล้านเส้น และผลิตยางผ้าใบรถบรรทุก 2 ล้านเส้น เป็นต้น นอกจากนี้บริษัท MESNAC Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทรายใหญ่ของจีนที่ทำเครื่องมือผลิตล้อรถยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำและผลิตเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ก่อตั้งเมือปี 2553 ที่เมืองชิงเต่า ผลิตภัณฑ์หลักๆ ได้แก่ เครื่องผสมอาหาร เครื่องตัด เครื่องบดยางพารา เครื่องผสมยางพารา เครื่องทำล้อรถยนต์ เครื่องทดสอบคุณภาพล้อรถยนต์ เครื่องทำล้อยางเรเดียล และเครื่องมือทำยางสังเคราะห์ เป็นต้น

3. การมี “Rubber Valley” ตั้งเมื่อปี 2555 บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ในตำบลซือไป (Shibei) เมืองชิงเต่า (Qingdao) มณฑลซานตง (Shandong) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจรและอุตสาหกรรมเคมีซึ่งประกอบด้วย 12 ฐานองค์ความรู้ เช่น การบ่มเพาะธุรกิจ การอบรม การแลกเปลี่ยนสินค้า และฐานความรู้การวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (Scientific Research & Innovation Platform) โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราจีน (China Rubber Industry Association : CRIA) ก่อตั้งเมื่อปี 2528 มีสมาชิกจำนวน 1,200 บริษัทซึ่งบริษัทเหล่านี้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราคิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศจีน

4. มหาวิทยาลัยชิงเต่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ (Qingdao University of Science & Technology) ตั้งเมื่อปี 2493 เปิดสอนถึงระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมเคมี มีนักศึกษาทั้งหมด 17.480 คน มี 16 วิทยาลัย 62 สถาบันวิจัย และ 16 ศูนย์วิจัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยียางพารา
5.ตลาดซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศ “QinRex (Qingdao International Rubber Exchange Market” ตั้งที่เมืองชิงเต่า โดยเป็นความร่วมมือกับเขตการค้าเสรีชิงเต่า (Qinqdao Free Trade Zone : QFTZ) และสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราจีน (China Rubber Industry Association : CRIA) QFTZ มีส่วนสำคัญมากอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของมณฑลซานตงและของจีนเพราะ QFTZ มีทั้งเขตขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ และคลังสินค้า

ปัจจุบันทีมีบริษัทยางพาราและอุตสาหกรรมอื่นๆ ของต่างชาติได้เข้าไปร่วมตั้งใน QFTZ มากกว่า 800 บริษัท เราจะเห็นได้ว่ามณฑลซานตงมีความพร้อมอุตสาหกรรมยางพาราหลายๆ ด้าน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอนาคต มณฑลซานตงจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางตลาดและอุตสาหกรรมยางพาราของโลกอย่างแน่นอนครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560