อธิบดีสรรพสามิตแจงยิบก.ม.ใหม่สินค้า90%ภาษีเท่าเดิม

19 เม.ย. 2560 | 08:00 น.
อีกไม่ถึง 5 เดือนดี ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ภาษีสรรพสามิต จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน(นับจาก 20 มี.ค. 60 ) และถือเป็นหนึ่งการปฏิรูประบบภาษีครั้งสำคัญ สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงผลของกฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน

 คืบหน้ากฎหมายลูก 80 ฉบับ
กฎหมายภาษีสรรพสามิตที่จะบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2560 จะเป็นการรวบรวมจากกฎหมายสรรพสามิต 7 ฉบับเพราะบางฉบับใช้มานาน 60-70 ปี บนหลักการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมและเป็นสากลมากขึ้น ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่โดยสาระสำคัญของการยกร่างฯก็เพื่อลดกระบวนงานของสรรพสามิต ตั้งแต่ในเรื่องการขอใบอนุญาต,กระบวนงานการจัดเก็บภาษี และลดกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี อุทธรณ์ให้คล่องและสะดวกขึ้น

“การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องออกกฎหมายลูก 80 ฉบับ กฎหมายลูกขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 90% ภายใน 2 เดือนหน้าจะเริ่มทยอยออกมา จะเหลือบางฉบับเท่านั้นที่ต้องตัดสินใจสุดท้ายเป็นเรื่องนโยบายเรื่องของพิกัดอัตราภาษี”
นายสมชาย ย้ำว่า การทำกฎหมายครั้งนี้ รัฐไม่มีวัตถุประสงค์เพิ่มภาษี มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้จึงได้ขมวดท้ายว่าฐานการคำนวณภาษีที่เปลี่ยนจากการคิด “ราคา ณโรงงาน” มาเป็น “ราคาขายปลีกแนะนำ” ต้องไม่เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ และประชาชน ..แต่เหตุที่กฎหมายต้องกำหนดเพดานอัตราภาษีไว้สูง เป็นการมองไปถึงอนาคต ตามภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่จะเปลี่ยนไปในอีก 20 ปีข้างหน้า

 ยันภาษีใหม่ไม่เพิ่มภาระ
“อย่างผู้ประกอบการที่เคยเสียภาษี ณ ราคาหน้าโรงงาน คูณด้วยอัตราภาษีเท่ากับ X เมื่อมาใช้ฐานคำนวณภาษีใหม่ เป็น “ราคาขายปลีกแนะนำ” คูณด้วยอัตราภาษีก็ต้องเท่ากับ X คือไม่มีภาระภาษีเพิ่ม แต่เนื่องจากฐานราคาขายปลีกแนะนำ( = ราคาวัตถุดิบ/หน้าโรงงาน บวก ค่าขนส่งบริหารจัดการบวก+กำไรมาตรฐาน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)โตกว่า”ราคาหน้าโรงงาน ” การจะให้ภาระภาษีเท่าเดิม จึงต้องถอยหรือลดอัตราภาษีจัดเก็บจริงลงดังนั้นทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ ภาษีที่คำนวณจากทุกพิกัดถัวเฉลี่ยในภาพรวมจะคงเดิม แต่แน่นอนว่าบางตัวอาจมีเพิ่มเล็กน้อย”

ทั้งนี้เรื่องการกำหนดราคาขายปลีกแนะนำเป็นหน้าที่ที่ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องสำแดงโครงสร้างราคาคือราคาสินค้าบวกกำไรค่าจัดการแล้วท่านควรจะขายเท่าไร แต่ส่วนของกรมสรรพสามิตก็ได้ตั้งหน่วยงานกลุ่มวิเคราะห์ราคา และว่าจ้าง สวค.(มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง) สำรวจเก็บข้อมูลราคาขายปลีกแนะนำในแต่ละพื้นที่ ส่วนหนึ่งมาจากกรมการค้าภายใน (กรณีเป็นสินค้าควบคุม) เพื่อเทียบกับข้อมูลที่ผู้ประกอบการแจ้งเข้ามาหากราคาแย้งกันเอง ตามกฎหมายวรรค 3 มาตรา 17 ระบุว่า รัฐต้องไปออกระเบียบขึ้นมาและต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

 3กลุ่มกระทบ”แจ้งต่ำกว่าจริง”
อย่างไรก็ดีอธิบดีสรรพสามิตไม่ปฏิเสธว่าจะมีสินค้าบางกลุ่มจะมีภาระภาษีเพิ่ม จากผลของกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ 1. สินค้าที่สำแดงราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น เมื่อมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำราคาสูงกว่าเดิมที่อิงราคาหน้าโรงงานมากผู้ประกอบการนั้นๆจึงต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมอย่างแน่นอน

2.สินค้านำเข้าที่ผู้ขายสำแดง CIF (CIF:ราคารวมตัวสินค้า ค่าระวางเรือขนส่งสินค้า และค่าประกันภัย) ต่ำหรือไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง โดยประมาณว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตทั้งระบบมีสินค้านำเข้าที่สำแดงราคาCIF ต่ำกว่าจริงมีเพียง 10% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถยนต์หรู

“รัฐมีรายได้ภาษีรถยนต์ต่อปี 8หมื่นล้านบาท ถึง 1.2 แสนล้านบาท แต่เป็นการนำเข้าแค่ประมาณ 10% ผลของกฎหมายใหม่มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้กำไรลดลง เพราะต้องแสดงราคาขายปลีกแนะนำ ที่สะท้อนความเป็นจริง และด้วยสภาพของการแข่งขันด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ต้องรักษาลูกค้า เนื่องจากตลาดกลุ่มรถยนต์ใหญ่”

3.สินค้าฟรีโซน (เขตปลอดภาษี ) แต่ผลิตเพื่อ “ขายในประเทศ “จากเดิมที่รัฐให้ภาษีฟรีหรือยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมให้เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก แต่เมื่อเป็นการผลิตเพื่อนำเข้ามาขายในประเทศด้วยก็ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับสินค้านำเข้าอื่นๆ

 ลดลักลั่น”นำเข้า-ผลิตในปท.”
อธิบดีฯย้ำกฎหมายฉบับนี้รัฐทำขึ้นเพื่อให้คนที่ต้องเสียภาษี เสียให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดลักลั่นระหว่างสินค้าที่นำเข้า กลุ่มฟรีโซน และผลิตในประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรม จากเดิมที่สินค้าCIFและฟรีโซนจะเสียต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่โดยภาพรวมยืนยันว่า ฐานภาษีใหม่ที่คำนวณจากขาปริมาณ บวกกับขามูลค่ารวมแล้ว ต้องเท่ากับที่เคยเสียส่วนอนาคตขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค

หลักการคิดอัตราภาษีตามกฎหมายใหม่จะเก็บทั้ง 2 ขาคือ ขามูลค่าบวกขาปริมาณ เทียบกับเดิมที่เก็บขาใดขาหนึ่งที่สูงกว่า ตัวอย่างกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การคำนวณภาษีตามกฎหมายใหม่จะผันตามปริมาณ (แอลกอฮอล์หรือดีกรี) โดยที่ขามูลค่าจะให้คงที่ไปก่อน ให้เฉพาะขาปริมาณทำงานแล้วนำ 2 ขามาบวกกัน , ภาษีน้ำมัน กำหนดให้ขามูลค่าเป็นอัตรา 0% ส่วนขาปริมาณ (ตามปริมาณลิตร) และภาษีอาบอบนวด ช่วงแรกจะให้เก็บเฉพาะขามูลค่า (จากรายได้) เท่านั้น แต่ขาปริมาณ(รอบใช้บริการ) ยังให้เป็น 0 แต่เปิดช่องเผื่ออนาคตอีก20-30 ปีอาจต้องเก็บทั้ง 2 ขา เป็นต้น

 ดันรายได้ 5ปีทะลุ8 แสนล้าน
เขากล่าวอย่างมั่นใจว่า สิ้นปีงบฯ 2560 กรมน่าจะจัดเก็บรายได้ถึง 5.5 แสนล้านบาท (ตามงบประมาณต้องได้ 4.99 แสนล้านบาท) หลังจาก 6 เดือนแรกปีงบฯ (ต.ค.59-มี.ค. 60 ) จัดเก็บได้เกินเป้ากว่า 4 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยับภาษีน้ำมัน

ขณะที่แผนจัดเก็บอีก 5 ปีข้างหน้า สิ้นสุดปี 2565 รายได้จะทะลุ 8แสนล้านบาทหรือโตปีละ 6-10% จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,254 วันที่ 20 - 22 เมษายน พ.ศ. 2560