พิษณุโลกเชียร์ผุดBRT สนข.ประชาพิจารณ์ระบบขนส่งสาธารณะ

17 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
สนข.ทำประชาพิจารณ์ระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ด้านหอการค้าชี้รถไฟฟ้าโมโนเรลอาจแพงเกินไป แนะระบบ BRT และ รถบัสสาธารณะน่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ได้ทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกเมื่อเร็วๆนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน จำนวน 120 คน เข้าร่วมสัมมนา ทั้งนี้ การศึกษาโครงการนี้จะช่วยวางรากฐานระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก และเป็นแผนแม่บทสำคัญใช้ในการขับการพัฒนาเมืองพิษณุโลกให้สามารถรองรับการเดินทางในอนาคต ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม ให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกอย่างยั่งยืนและสามารถรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"จังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม เศรษฐกิจ การศึกษา และการท่องเที่ยวของภาเหนือตอนล่าง มีวิสัยทัศน์ คือ "เมืองบริการสี่แยกอินโดจีน" และมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเพื่อเป็นเมืองบริการที่หลากหลาย (Service City) และมีความปลอดภัย (Safe City) โดยมีเป้าประสงค์หลักที่ต้องการเป็นศูนย์กลางบริการด้านขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร อีกทั้งภูมิศาสตร์ที่ตั้งของจังหวัดพิษณุโลกยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ 3 แนว อันได้แก่ แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) ตะวันออก-ตะวันตก(EWEC) และหลวงพระบาง*อินโดจีน-เมาะลำไย (LIMEC) ที่จะกระตุ้นการเชื่อมโยงการเดินทางของนักท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน (AEC) และที่สำคัญจังหวัดพิษณุโลกยังเป็นจังหวัดที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการระบบรถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ-เด่นชัย และโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพฯ – พิษณุโลก"

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญและจัดให้เมืองพิษณุโลก เป็น 1 ใน 6 เมืองหลักในภูมิภาค (เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และหาดใหญ่) ที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรอย่างเร่งด่วนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ของกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดให้ระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เกิดการเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองพิษณุโลกให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งต้องสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตของเมืองพิษณุโลก(พิษณุโลก 2020) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ลดการใช้และนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศและแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ตัวแทนหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก เโดยทางคณะวิศวกรรมศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด

ทั้งนี้แนวคิดในเรื่องระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมการใช้รถของชาวจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องยากเพราะส่วนใหญ่จะนิยมใช้รถส่วนตัวเป็นหลัก อีกทั้งในพื้นที่เขตเทศบาลนครพิษณุโลกมีเนื้อที่ 18.26 ตารางกิโลเมตร ทำให้การขยายเป็นเรื่องยาก ซึ่งจากที่ทางหอการค้าจังหวัดพิษณุโลกได้ไปดูงานที่ออสเตเรีย พบว่าระบบที่น่านำมาใช้คือ ระบบ โมโนเรล (monorail) แต่ปัญหาคืองบลงทุนสูง ระบบที่ 2 ที่น่าสนใจ คือ ระบบแทรมลิงก์ และระบบที่ 3 ระบบ BRT น่าจะเป็นระบบที่น่าจะเริ่มและใช้ได้สะดวกที่สุด และระบบที่ 4 คือ รถบัสโดยสารสาธารณะ แต่ที่ผ่านมาจังหวัดพิษณุโลกเคยมีรถบัสโดยสารสาธารณะ แต่ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนทำให้ต้องปิดตัวลงและมีบริษัทใหม่เข้ามาทำแต่ลดขนาดรถลงเหลือรถปิกอัพ

"ซึ่งทั้ง 4 ระบบ นั้นทางหอการค้าคิดและอยากได้คือ ระบบ โมโนเรล (monorail) แต่เป็นได้ยากเพราะต้องลงทุนมหาศาล ส่วนระบบ BRT และระบบรถบัสโดยสาร น่าจะเกิดขึ้นง่ายที่สุดเพราะเป็นการใช้ทางร่วมและลงทุนน้อย แต่ก็ต้องดูในเรื่องของการใช้บริการที่ประชาชนยังนิยมใช้รถส่วนตัวเนื่องจากสะดวกสบายแต่ทั้งนี้ต้องรอผลการศึกษาของ คณะวิศวกรรมศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าระบบขนส่งสาธารณะแบบไหนที่จะเหมาะกับจังหวัดพิษณุโลก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560