Global Healthcare ยังน่าสนใจจริงหรือ

17 เม.ย. 2560 | 12:00 น.
ในช่วงที่ผ่านมา มักจะมีคำถามเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นของกลุ่มโกลบอลเฮลท์แคร์ ว่ายังคงมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนอยู่หรือไม่ ในวันนี้เลยขอนำเสนอให้เห็นถึงปัจจัยบวกที่สนับสนุนการเติบโตของหุ้นกลุ่มดังกล่าวสำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้ลงทุน ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลท์แคร์ได้ถูกกดดันมานานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 หลังจากที่นางฮิลลารี่ คลินตัน ได้ชูนโยบายหาเสียงด้วยการลดราคายา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานการณ์ของหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลท์แคร์ดูดีขึ้นมาก เนื่องจากปัจจัยที่กดดันมาตลอดโดยเฉพาะการลดราคายาได้ผ่อนคลายลงไปมากแล้ว อีกทั้งนโยบายทางด้านเฮลท์แคร์ของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวลกันก่อนหน้านี้

ในระยะยาวแนวโน้มการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายด้านเฮลท์แคร์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตของรายได้ชนชั้นกลางทั่วโลกล้วนแต่ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ในระยะสั้นถึงกลางจะพบว่ามี 2 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

1.การผลิตยาใหม่ๆ
ในที่นี้จะขอแบ่งยาออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาสามัญที่รักษาโรคทั่วไป กับยาSpecialty ซึ่งคือยาที่มีความยากในการผลิตสำหรับใช้รักษาโรคที่มีความซับซ้อน ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทที่ผลิตยาทั่วไปจะเติบโตได้น้อยโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เนื่องจาก Pharmacy Benefit Manager ซึ่งเป็นตัวกลางต่อรองราคายาให้กับผู้บริโภค หากเป็นยาทั่วไปมักจะถูกต่อรองมากกว่า 50% ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นยา Specialty จะถูกต่อรองราคาน้อยมาก และมีศักยภาพในการทำกำไรที่ดีเนื่องจากสามารถตั้งราคาในระดับสูงได้ ดังนั้นเป้าหมายของผู้จัดการกองทุนกลุ่มเฮลท์แคร์ส่วนใหญ่จะลงทุนในบริษัทที่มีการผลิตยาแบบ Specialty เพราะมีโอกาสการเติบโตสูง อย่างไรก็ตามการอนุมัติยาของ อย.สหรัฐอเมริกานั้น มีมาตรฐานที่สูงมากและใช้ระยะเวลานานมากกว่า 5 ปี

 2.การควบรวมกิจการ
อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์มักจะมีการควบรวมกิจการอยู่เสมอๆ เนื่องจากหลายๆบริษัทมีเงินสดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถคิดค้นยาใหม่ๆได้ทัน ขณะที่บางบริษัทมีนวัตกรรมยาใหม่ๆที่รอการอนุมัติอยู่เยอะ แต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติทำให้เกิดการขาดแคลนเงินสด บริษัทเหล่านี้จึงมักจะควบรวมกิจการกันเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย โดยปัจจุบันนี้จะหาบริษัท Pharma แท้ๆ หรือ Biotech แท้ๆ ได้น้อยลง เพราะส่วนใหญ่จะกลายเป็น Biopharma นั่นเอง

[caption id="attachment_141062" align="aligncenter" width="364"] Global Healthcare ยังน่าสนใจจริงหรือ Global Healthcare ยังน่าสนใจจริงหรือ[/caption]

หากพิจารณาผลกระทบจากนโยบายของ นายโดนัลด์ทรัมป์ ต่ออุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ จะพบว่าในส่วนของการยกเลิกโอบามาแคร์ (Obama care) หรือ Affordable Care Act ซึ่งเป็นกฎหมายประกันสุขภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้คนสหรัฐสามารถซื้อประกันสุขภาพและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงในราคาไม่แพง ประเด็นนี้ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ไม่มากนัก เพราะถึงแม้จะมีการยกเลิกโอบามาแคร์ แต่ก็จะมีการเสนอสวัสดิการในรูปแบบอื่นเพี่อมาชดเชย (American Care) อีกทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลและบริษัทประกัน ซึ่งมีน้ำหนักการลงทุนในดัชนี โกลบอลเฮลท์แคร์ไม่มากนัก ล่าสุดช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจถอนร่างการแก้ไขออกจากสภา เนื่องจากมีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอและยังไม่มีกำหนดว่าจะนำกลับมาพิจารณาอีกเมื่อไหร่
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พบกับผู้ผลิตยารายใหญ่ และเจรจาให้ผู้ผลิตยาเหล่านี้ลดราคายาลง เพื่อแลกกับการลดขั้นตอนต่างๆที่ไม่จำเป็นในการอนุมัติยาและจะเร่งให้มีการอนุมัติยาได้เร็วขึ้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์นั้น จะเน้นบริษัทที่มีการคิดค้นยาใหม่ๆ ซึ่งจะมีขั้นตอนการอนุมัติที่นานมาก หากสามารถปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาได้ จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์เนื่องจากหุ้นกลุ่มยาและ Biotech มีน้ำหนักถึง 2 ใน 3 ของ MSCI World Healthcare Index เลยทีเดียว

นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังต้องการให้บริษัทยากลับมาผลิตและสร้างงานในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริษัทยาเหล่านี้นิยมไปเปิดบริษัทลูกในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษีนิติบุคคลที่สูงถึง 35% บริษัทยาเหล่านี้จึงมีเงินสดที่ค้างอยู่ในต่างประเทศสูงมาก ซึ่งหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้บริษัทเหล่านี้นำเงินกลับสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ขยายการผลิตในประเทศมากขึ้น อาจจะต้องมีการลดภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินกลับจากต่างประเทศให้เป็นกรณีพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น และในกรณีที่สามารถนำเงินกลับมายังสหรัฐอเมริกาแล้ว บริษัทเหล่านี้ก็จะหาโอกาสทำการควบรวมกิจการ หรือซื้อหุ้นคืนซึ่งล้วนส่งผลดีกับหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาหุ้นกลุ่ม โกลบอลเฮลท์แคร์มีบรรยกาศการลงทุนที่ดีขึ้นมาก ดัชนีมีแนวโน้มดีขึ้น หลังถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองมาเป็นเวลานานทั้งๆที่พื้นฐานยังคงดีอยู่ จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้การลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ในระยะกลางถึงยาวยังคงมีความน่าสนใจและมีแนวโน้มที่ดีเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560