ทำให้มังกรเชื่อง

17 เม.ย. 2560 | 08:00 น.
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้รับเชิญจาก ASEAN China Centre และ China Institute of international Studies ให้เข้าร่วมสัมมนา ภายใต้หัวข้อ New Beginning, New Opportunity เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีของอาเซียน และได้นำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการผลิตและการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียนและจีน

มีประเด็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เก็บรวบรวมมาจากการสัมมนานานาชาติครั้งนี้ เพราะในการสัมมนามีผู้หลักผู้ใหญ่ของอาเซียนมาให้ข้อคิดหลายประการโดยเฉพาะข้อคิดที่กล่าวว่าควร "ทำให้มังกรเชื่อง" (Tame the Dragon) เพราะการที่จีนไปลงทุนและค้ากับหลายประเทศในอาเซียน ส่งผลต่อทางลบต่อผู้ค้าและผู้ผลิต ในท้องถิ่น ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่นแม้ว่าเราจะส่งออกผลไม้พื้นเมืองของไทยไปยังประเทศจีนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นมังคุด เงาะ ทุเรียน และลำไย

หากจะกลับไปถามผู้ประกอบการไทยซึ่งเคยเป็นผู้รวบรวมผลไม้เหล่านั้นได้รับประโยชน์จากการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน พบว่า ผู้ค้าชาวไทยอาจจะเสียประโยชน์เสียด้วยซ้ำเพราะพ่อค้าจีนมากว้านซื้อสินค้าไทยถึงสวนในจังหวัดต่างๆ โดยมีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไปหรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือกรณีที่จีนไปลงทุนปลุกกล้วยหอมใน สปป.ลาว ส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินและการใช้สารเคมีจนกระทั่งต้องมีการตัดต้นกล้วยทิ้งเป็นจำนวนมากที่เราได้เห็นตามข่าวไปแล้ว

นอกจากนี้การลงทุนของจีนในประเทศต่างๆ เพื่อมาใช้แรงงานราคาถูกในอาเซียนแต่ก็พบว่าผลประโยชน์นั้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนในอาเซียนไม่มากนัก อีกทั้งการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคประเทศเจ้าบ้านเองก็มีความกังวลในบทบาทการลงทุนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนจะเข้ามามีอิทธิพลในท้องถิ่นสูงมาก

นักวิชาการต่างชาติท่านหนึ่งได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจ โดยเปรียบการลงทุนของญี่ปุ่นหรือสหภาพยุโรปว่า มักจะมีการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมมาพร้อมกับการลงทุน อาทิเช่นในกรุงพนมเปญนั้นจะมีพื้นที่ที่เข้ามาพัฒนาโดยการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะอาคารสถานที่ราชการและสถานที่ท่องเที่ยวสร้างความประทับใจให้กับคนท้องถิ่น และคนท้องถิ่นตระหนักถึงประโยชน์ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การดำเนินการดังกล่าวหากเป็นการสนับสนุนของภาครัฐก็เรียกได้ว่าเป็น Soft Policy หากเป็นการลงทุนจากภาครัฐก็จะกลายเป็น CSR (corporate social responsibility) ทางรัฐบาลจีนและเอกชนของจีนที่ทำธุรกรรมต่างประเทศยังมีข้อจำกัดในการดำเนินทั้งสองนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดความระแวงของประชาชนในท้องถิ่นว่าจะเข้ามาเพียงเพื่อการกอบโกยอย่างเดียว

ทั้งนี้กลายประเด็นที่ถกเถียงกันมากในที่ประชุม นอกจากความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจที่กล่าวถึง One Belt One Road และ Lanchang Mekhong Cooperation ประเด็นที่ขาดหายไปและต้องดำเนินการอย่างเรื่องด่วนในอนาคตคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศ และแนวทางในการหาผลประโยชน์จากการค้าการลงทุน ร่วมกันอย่างเป็นธรรม

นอกจากจะได้รับประโยชน์จากการสัมมนาดังกล่าวแล้ว ผมยังได้รับเชิญให้ไปเยือน University of International Business and Economics ที่มีความสนใจจะสร้างเครือข่ายทางด้านวิชาการเศรษฐศาสตร์ระหว่างอาเซียนและจีนโดยที่ทางคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ได้ถูกคัดเลือกมาพิจารณาเป็นหนึ่งในความร่วมมือดังกล่าว ที่สถาบันการศึกษาของจีนแห่งนี้น่าสนใจมากเพราะถือว่าถูกจัดลำดับเป็นที่ 1 ของประเทศจีนในเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเงิน และมีจำนวนนักเรียนต่างชาติสูงถึงร้อยละ 40 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 16,000 คนที่มีอาจารย์เป็นชาวจีนอยู่ประมาณ 1,000 คนและมีอาจารย์ชาวต่างชาติอีกกว่า 200 คนทำให้ถูกจัดลำดับเป็นที่ 1 ในจีนของความเป็นนานาชาติ

มหาวิทยาลัยนี้คนไทยอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมากนักเหมือนมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหัว แต่พอไปนั่งคุยกับทางรองคณบดีและนักศึกษาปริญญาเอกจำนวนหนึ่งก็พบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้สมกับความเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเฉพาะสาขา ตรงนี้ก็เป็นอีกส่วน 1 ของความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาคได้ในอนาคต ผ่านกระบวนการ people to people connectivity พี่จีนเพิ่งเริ่มเดินหน้า แตกต่างจากญี่ปุ่นที่ได้ทำมานานมากแล้วในเรื่องของการสนับสนุนการศึกษา และสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจระหว่างคนญี่ปุ่นและคนไทย และชาติอื่นๆในอาเซียน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560