2 แสนล้านปลุกศก.แนวโน้มกำลังซื้อฟื้น-เกษตรราคาพุ่งต่อ

18 เม.ย. 2560 | 11:30 น.
คลังลั่นเม็ดเงินงบกลาง 2 แสนล้าน เข้าสู่ระบบ ปลุกกำลังซื้อไตรมาส 2 ฟื้นต่อจากไตรมาสแรกที่โต 3.3% แบงก์รัฐบอกข่าวดีสินเชื่อฐานรากปล่อยเพิ่ม เหตุสินค้าเกษตรราคาขยับติดต่อกัน ส่วนท่องเที่ยวโตต่อเช่นเดียวกับกำลังซื้อ-บริโภคฟื้นตัว

ผ่าน 3 เดือนของปีระกา 2560 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นและดีกว่าที่คาดไว้ เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา

สะท้อนจากการส่งออกที่ขยายตัว ภาคท่องเที่ยวฟื้น การบริโภคและลงทุนเอกชนขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการระดมทุนของภาคธุรกิจ สำนักพยากรณ์ได้มีทยอยปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี รองรับสัญญาณบวกต้นปี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตจีดีพี (เมื่อ 20 ก.พ.60) เป็น 3.6% จากเดิมอยู่ที่ 3.4% (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.1-4.1%) และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ปรับเพิ่มประมาณการเป็น 3.4%จากเดิมอยู่ที่ 3.2% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินจีดีพี 3.0-4.0%

***งบ2แสนล้านเข้าระบบ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 เป็นไปตามที่คลังคาดการณ์ไว้ ไม่ว่าภาคส่งออก 2 เดือนแรกหรือการใช้จ่ายภาครัฐ แม้การลงทุนภาคเอกชนที่แม้จะล่าช้าบ้าง แต่ยังมีการลงทุนของรัฐวิสาหกิจมาช่วย สิ่งที่เห็นชัดเจนขึ้น คือ ราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้ทั้งยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นก็เริ่มกลับมาต่อเนื่อง 2เดือน

ในส่วนของงบกลาง 1.9 แสนล้านบาทนั้น คาดว่าสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)จะเริ่มทำแผนกู้เงิน 1.6 แสนล้านบาทช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่กลุ่มจังหวัดตามแผนสร้างความเข้มแข็งตามยุทธศาสตร์ชาติ
“จีดีพีบางไตรมาสมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 3.9% หรือบางไตรมาสมีโอกาสโตได้เพียง 3.2% แต่ทั้งปีนี้ยังคงเป้าที่ 3.6% แต่แม้ว่าภาพรวมเรามีมาตรการพร้อมจะดูแลระบบเศรษฐกิจภายใน แต่สิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือสถานการณ์โลกซึ่งเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว”

แหล่งข่าวกระทรวงคลังระบุว่า จีดีพีไตรมาสแรกจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.2-3.3%เนื่องจากมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทั้งการบริโภค ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคาข้าว ราคายางพารา มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันมีราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลชัดเจนทำให้กำลังซื้อภาคประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรที่มีสัดส่าวนการบริโภคสินค้าภายในประเทศสูงถึง 60% และที่สำคัญคือ การส่งออกที่กลับมาเป็นบวก ซึ่งมีสัดส่าวนสูงถึง 70-80% ของจีดีพี ยังมีแนวโน้มเป็นบวกต่อเนื่อง
ส่วนงบประมาณที่คาดว่าจะมาจากการเร่งรัดเบิกจ่าย ให้น้ำหนักไปที่การเบิกจ่ายในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการลงทุนรถไฟฟ้า รถไฟสายสีต่างๆ คาดว่าไตรมาสที่ 2 จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบอีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหา วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา 1-2 เดือน สัญญาณค่อนข้างดีทั้งการเบิกจ่ายโครงการภาครัฐ ,เงินงบประมาณรวมถึงกำลังซื้อภาคเอกชน แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีสัญญาณบวกที่ดีอย่างต่อเนื่องไป 8 ไตรมาสซึ่งคาบเกี่ยวไปถึงปีหน้าด้วย

“การใช้เงินภาครัฐมีความชัดเจนแล้วควรเร่งการเบิกจ่ายทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานและเงินงบประมาณให้ต่อเนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลทำได้ดีแล้ว อีกทั้งมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย”

ขณะช่วงที่เหลือยังห่วงปัจจัยต่างประเทศนั้นอาจส่งผลกระทบภาคท่องเที่ยวที่เป็นความคาดหวังของไทย จึงจำเป็นทางการต้องดูแลความปลอดภัยภายในประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในไทยปีนี้หากเกิน 30ล้านคนนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

“ ตอนนี้รัฐต้องวางรากฐานเพื่อการเติบโตระยะยาวเน้นสร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาแรงงานมีฝีมือหรือเพิ่มทักษะกำลังแรงงาน เพราะปัจจุบันไทยมีกำลังแรงงานมีทักษะสูงเพียง 14%ซึ่งต่ำกว่าต่างประเทศที่มีอยู่ 45-50%ส่วนนโยบายปีนี้ควรชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้แล้ว เพราะเรากำลังไปไทยแลนด์ 4.0”

***กำลังซื้อฐานรากเพิ่ม

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจฐานรากมีการปรับตัวดีขึ้นในแง่ของกำลังซื้อ เห็นได้จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีการเพิ่มในอัตราชะลอโดยสิ้นไตรมาสแรกน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.19%จากสิ้นปี2559อยู่ที่ 2.04% ซึ่งเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่าทุกปี
ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนฐานรากมีรายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ด้วย เช่น สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อรายคิดดอกเบี้ยอัตรา 0.85% ต่อเดือน (เปิดตัวเมื่อ 1 มี.ค.60) คาดว่าไตรมาสสองจะปล่อยกู้ได้ทั้งจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้จะประหยัดเงินให้ลูกค้าต่อคนกว่า 4,000 บาท

“เฉพาะ 2 เดือนของปีนี้ความต้องการสินเชื่อรายย่อยสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาทจากเป้าทั้งปีที่คาดว่าจะเติบโต 3% วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญแบงก์ออมสินยังให้บริการแนะนำเสริมสร้างความรู้กับกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง”
นายรชตพงศ์ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมระยะสั้นในช่วงไตรมาสแรกนี้ คาดว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ที่ 3.2% ช่วงเวลาที่เหลือในไตรมาส 2, 3 และ 4 ของปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 3.3% 3.5% 3.5%

“รัฐบาลเร่งสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าในครึ่งหลังของปีนี้จะเห็นการฟื้นตัวของการลงทุนที่ชัดเจน การขยายตัวได้จากการที่รายได้ภาคเกษตรขยับสูงขึ้น และการท่องเที่ยวยังขยายตัวในเกณฑ์ดี”

***ท่องเที่ยวฟัน7แสนล้าน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า สถิติล่าสุด ณ วันที่ 25 มีนาคม 60 กระทรวงท่องเที่ยวได้ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 7 แสนล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.07 ล้านคน หรือขยายตัว 0.41% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดหลักยังเป็นนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย รัสเซีย

ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทยช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ยังพบว่ามีการขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่าอยู่ที่ 31.6 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัว 5.43% เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศ 2.3 แสนล้านบาท ขยายตัว 6.53% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน มีอัตราการเข้าพัก อยู่ที่ 73.73% ขยายตัว 0.99%
“ปัจจัยบวกเกิดจากอากาศหนาวเย็นในช่วงต้นปีในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือและคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 การท่องเที่ยวของไทยยังโตต่อเนื่อง” นายพงษ์ภาณุกล่าว

***บริโภคโตถ้วนหน้า

นายสุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กำลังซื้อในไตรมาสแรกที่ผ่านมาถือว่าปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการที่รัฐบาลพยายามกระตุ้น ประกอบกับบริษัทได้ทำกิจกรรมการตลาดและขยายธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ในไตรมาสแรกที่ผ่านมากลุ่มเทรดดิ้งมีอัตราการเติบโต 30%

เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กำลังซื้อในธุรกิจร้านอาหารไตรมาส 1 มีการเติบโตที่ดีขึ้น แม้จะไม่หวือหวามากนักโดยคาดว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์จะกระตุ้นให้ยอดขายในต่างจังหวัดและเมืองท่องเที่ยวคึกคักขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560