ฟันธงรัฐ “ตีตก” กำนันวาระ 5 ปี “วุฒิสาร” เชื่อมท.หนุนอยู่จน 60 ปี

14 เม.ย. 2560 | 09:45 น.
วันที่ 14 เม.ย.60 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า “นักวิชาการ” ฟันธงรัฐบาลเมินข้อเสนอหั่นวาระกำนันเหลือ 5 ปี “วุฒิสาร” ชี้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านยังมีพลังสูง เชื่อมหาดไทยหนุนอยู่จนเกษียณ 60 ปี ส่วน“ตระกูล”ระบุเป็นการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรียอมกันไม่ได้

ผลสืบเนื่องจากกรณีกำนัน-ผู้ใหญ่ทั่วประเทศ รวมตัวกันยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2457  โดยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน 5 ปี จากเดิมอยู่จนเกษียณ 60 ปี และประเมินผลการทำงานของผู้ใหญ่บ้านทุก 3 ปี จากเดิม 5 ปี เป็นประเด็นร้อนที่สังคมต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากมติการประชุม สปท.เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นชอบกับรายงานข้อเสนอแนะของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง  ด้วยคะแนนเสียง 91 ต่อ 27 โดยมีผู้งดออกเสียง 32 เสียง  ขั้นตอนหลังจากนี้ รายงานชุดดังกล่าวจะถูกส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาว่าจะรับข้อเสนอของ  สปท.หรือไม่  ถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วยข้อเสนอนี้ก็ถือว่าตกไป

เผือกร้อนที่ สปท.โยนไปยังรัฐบาลดังกล่าว ในมุมมอง นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า สะท้อนผ่าน“ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย แม้สปท.จะมีมติออกมาแล้วให้เลือกตั้งกำนัน และมีวาระ 5 ปี    แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นกลุ่มที่มีพลังสูง อยู่ที่รัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณา  ส่วนกระทรวงมหาดไทยคิดว่าก็ยังยืนในฝั่งที่ให้มีกำนัน

กูรูด้านการกระจายอำนาจท่านนี้ระบุอีกว่า เรื่องบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้าน เคยมีการศึกษามานานแล้ว มีข้อเสนอหลายอย่างที่โยงถึงปัจจุบัน  เพราะหลังการกระจายอำนาจและมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทำให้อำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

ประกอบกับมีการพิจารณาว่าถ้ากำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในวาระสั้นไปจะมีปัญหาพะวงเรื่องการเลือกตั้ง ไม่สามารถทำงานด้านความมั่นคงได้ จึงมีข้อเสนอคือ ประการแรก แบ่งบทบาทให้ชัดคือ งานรักษาความมั่นคงและการตรวจสอบ ให้เป็นบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในฐานะตัวแทนราชการภูมิภาค ซึ่งในการเสนอให้อยู่ถึงอายุ 60 ปี เป็นช่วงที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล  แต่กระบวนการได้มาของกำนันต้องสรรหา โดยประชาชนเสนอชื่อมาแล้วคัดเลือกโดยราชการภูมิภาคคือ กรมการปกครอง บทบาทตรงนี้เหมือนเป็นตัวแทนราชการภูมิภาคที่มาทำหน้าที่ด้านความมั่นคงหรือพูดง่ายๆ คือเป็นลูกน้องนายอำเภอ และมีกระบวนการให้เอาออกง่าย และสามารถถอดถอนได้ มีการประเมินทุก 5 ปี และจัดหลักสูตร ให้มีการอบรมและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ  ส่วนการเลือกตั้งเป็นความพอใจของประชาชนในการเลือกเป็นตัวแทน และต้องมีเทอม

“วันนี้ต้องดูว่าบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในอนาคต และตำแหน่งอีกหลายตำแหน่งที่หมดความจำเป็น ก็อาจจำเป็นต้องทบทวน เช่น แพทย์ประจำตำบล  วันนี้เรามีสถานีอนามัยเต็มไปหมด แต่แพทย์ประจำตำบลยังมีอยู่ เราต้องไม่พูดเรื่องการเมือง ต้องวางหลักว่าวันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไปอย่างนี้ เราจะวางอย่างไร ผมไม่ได้บอกว่าต้องยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่บอกว่าต้องปรับตัวให้เหมาะกับความต้องการของประเทศและสังคมว่าเราต้องการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ทำอะไร” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าให้แง่คิดทิ้งท้าย

สอดคล้องกับความเห็นของนายตระกูล มีชัย  อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่สะท้อนว่า บทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านของเดิมตามกฎหมายการปกครองท้องที่ ถ้านับตั้งแต่ปี 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นบทบาทภาระที่เป็นตัวแทนของรัฐ ในพื้นที่ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ กำนันผู้ใหญ่บ้านจะทำหน้าที่แทนองค์กรของรัฐทั้งหมด ไม่ว่า เศรษฐกิจ สังคม  ทั้งยังเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ต่อมาภาระหน้าที่ดังกล่าวมีหน่วยงานอื่นเข้าไปทำแทน บทบาทจึงเริ่มลดลง และเมื่อมีการกระจายอำนาจ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ ภารกิจก็ลดลงอีก โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายปี 2550 หน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านกลายเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) และเทศบาล

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน2

ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านควรกำหนดวาระกี่ปี ต้องมอง 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก มองพื้นที่การปกครองในระดับตำบลว่าขณะนี้รูปแบบของอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ยังมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะมีองค์กรอื่นมาทำหน้าที่แทนแล้ว ทำให้บทบาทลดลง แต่การดูแลลูกบ้านยังคงอยู่ในฐานะตัวแทนคนในหมู่บ้าน เพราะสังคมไทยความเป็นบ้านและหมู่บ้านไม่ได้หมายถึงตำบล แต่โครงสร้างของกฎหมายดั้งเดิมให้กำนันมีอำนาจสูงสุด  สิ่งที่ต้องถามต่อคือยังจำเป็นต้องมีหรือไม่ในเมื่อโครงการมันเปลี่ยนเท่าที่อ่านรายงานของ สปท.ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่พูดประเด็นการเป็นประชาธิปไตย การสร้างอิทธิพล เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความหมางใจกัน

ประเด็นที่ 2 จะเลือกตั้งกำนันโดยตรงหรือจะให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกตั้งกันเอง ซึ่งเดิมเลือกตั้งโดยตรง แต่เกิดปัญหาการใช้เงินในการเลือกตั้งกำนันจำนวนมาก นอกจากนั้นยังติดขัดศักดิ์ศรี หรืออำนาจแต่ดั่งเดิมของกำนันยังคงอยู่ ทางมหาดไทยจึงอยากแก้ไขปัญหาโดยให้ผู้ใหญ่บ้านมาประชุมและตกลงร่วมกัน

อีกคำถามคือจำเป็นต้องมีกำนันอีกหรือไม่ ถ้าจำเป็นเพราะโครงสร้างการปกครองเก่ายังกำหนดให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านทุก 5 ปี หมายความว่าถ้าครบ 5 ปี แม้ไม่ได้เป็นกำนันก็ยังเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ มันจะเกิดระบบการหมุนเวียน ถ้าเป็นผู้ใหญ่บ้าน 5 ปี ก็สามารถมาเป็นกำนันได้ แต่ถ้าใช้วิธีเลือกทุก 5 ปี จะต้องมีมาตรการป้องกันการซื้อเสียงให้อย่างเต็มที่

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-3

“ปัญหามีตอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากวาระ 60 ปี  เป็น 5 ปี และปรับเป็น 60 ปี โดยตอนเปลี่ยนหลังสุดมีการเพิ่มมาตรการการประเมินผลงานทุก 5 ปี ประเด็นคือ ระบบการประเมินผลงานของสังคมไทย มันลูบหน้าปะจมูกมีการเกรงใจกัน จึงไม่มีการประเมินอย่างจริงจัง ข้อเสนอให้ประเมินทุก 3 ปี จึงเป็นมาตรการกระตุ้นให้ผู้ใหญ่บ้านทำงาน ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่การประเมินทุก 3 ปี ต้องสร้างความสมดุลในการประเมินระหว่างราชการเป็นผู้ประเมินกับประชาชนในหมู่บ้านอย่าให้ราชการประมินฝ่ายเดียว

นายตระกูล ยังกล่าวถึงกรณีผู้ใหญ่บ้านเลิกพูดประเด็นจะอยู่ 60 ปีหรือ 5 ปี เพราะปัญหาการปกครองหมู่บ้านอยู่ที่โครงสร้างการปกครองคิดแบบเก่าคือผู้ใหญ่บ้านคนเดียว ขอเสนอว่า ควรใช้รูปแบบคณะกรรมการของหมู่บ้านที่มีอยู่แล้วแต่เพิ่มอำนาจให้เป็นองค์คณะในการตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่เป็นแค่ที่ปรึกษา และกรรมการชุดนี้จะมีเป็นคุ้ม เป็นกลุ่ม ต้องจัดโครงสร้างตรงนี้ให้อยู่ร่วมกันเพื่อเข้าสู่ขบวนการตัดสินใจ  ผู้ใหญ่บ้านก็จะคล้ายๆกับเป็นประธานในที่ประชุมแต่การตัดสินใจสำคัญทุกเรื่องให้ทำในนามคณะกรรมการจะเป็นทางออกที่ดีกว่า  ดีกว่าเถียงกันเลือกหรือไม่เลือก หรือจะอยู่กี่ปี มันล้าสมัย

“จากสถานการณ์ ณ ขณะนี้คิดว่า แนวโน้ม ครม.คงไม่รับข้อเสนอของ สปท.เพราะมันจะไปควบคุมการขยับเขยื้อนในระดับล่างไม่ได้ รัฐบาลไม่กล้ารับช่วงนี้แน่นอน ทั้งยังเป็นประเด็นร้อนและไม่ได้พูดคุยด้วยความเข้าใจ เป็นเรื่องการต่อสู้กันด้วยศักดิ์ศรี ถ้าเป็นอย่างนี้พูดลำบากมาก” นายตระกูลกล่าว

TP16-3252-A