พาณิชย์พร้อมเป็นเจ้าภาพอุดช่องโหว่ป้องกันนำธุรกิจหลอกลวงประชาชน

14 เม.ย. 2560 | 00:44 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงพาณิชย์ ขานรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดูแลบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด กำหนดมาตรการเข้ม อุดช่องโหว่-ปิดช่องว่าง...วางแนวทางป้องกันนำธุรกิจหาประโยชน์โดยมิชอบหลอกลวงประชาชน หลัง บจ.เวลท์เอเวอร์ สร้างแรงกระเพื่อมด้านลบให้แวดวงธุรกิจไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบบริษัทเข้ม เฝ้าระวัง และตัดวงจรมิจฉาชีพเตือนภัยประชาชน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากกรณีที่บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด มีพฤติกรรมหลอกลวงประชาชนโดยการลอยแพนักท่องเที่ยวชาวไทยกลางสนามบินสุวรรณภูมิจนไม่สามารถเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีความเป็นกังวลและต้องการให้มีระบบการตรวจสอบล่วงหน้า เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในทำนองเดียวกับ บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด อีก จึงได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งหามาตรการควบคุม อุดช่องโหว่-ปิดช่องว่าง มิให้บริษัทที่ได้จดทะเบียนนำธุรกิจมาหาประโยชน์โดยมิชอบหลอกลวงประชาชนได้อีกต่อไป และเป็นเจ้าภาพหารือเกี่ยวกับการบูรณาการข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ/การขออนุญาตประกอบธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานให้มีการเชื่อมโยงและสามารถตรวจสอบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังและตัดวงจรมิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจ”

รมว.พณ. จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเจ้าภาพหลักจัดประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีป้องกัน/ป้องปรามเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในวันอังคารที่ 18 เมษายน 2560 นี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยให้เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการปกครอง กรมการท่องเที่ยว สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ฯลฯ เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลในการจดทะเบียน/การขออนุญาตประกอบธุรกิจที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียว และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้โดยง่าย โดยเฉพาะข้อมูลและประวัติของผู้กระทำความผิดที่มาสวมรอยขอจดทะเบียนนิติบุคคลหรือขออนุญาตประกอบธุรกิจประเภทต่างๆ ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรมิจฉาชีพในคราบธุรกิจที่จะเข้ามาหากินและหลอกลวงประชาชน ตลอดจนการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจไทย นอกจากนี้ จะร่วมกันกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้น ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดฐานหลอกลวงประชาชนหรือฐานความผิดอื่นๆ เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวซ้ำรอยขึ้นอีก”

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบธุรกิจมีความหลากหลายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจทำให้ผู้ซื้อ/ผู้ขายหรือการติดต่อธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ยากแก่การตรวจสอบ รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกินจริงอาจทำให้เกิดการหลอกลวงและเกิดความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้น การตัดวงจรที่มิชอบด้วยกฎหมายโดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงาน และทุกฝ่ายจะสามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม”