ปลัดมท.สั่งด่วนผู้ว่าฯ/นอภ.ทั่วประเทศเพิ่มความเข้มมาตราการเมาไม่ขับ

13 เม.ย. 2560 | 15:34 น.
13 เม.ย.60-  นายกฤษฏา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) ร่อนหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ (นอภ.)และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด เรื่อง  การเพิ่มความเข้มข้นในการหยุดยั้งผู้ดื่มสุราไม่ให้ขับยานพาหนะเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

ขณะนี้ ผ่านห้วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวันมาได้ 2วันแล้วนั้น

ปรากฏว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ยังคงเกิดจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะมากที่สุด ในขณะเดียวกันพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดก็คือพื้นที่ถนนสายรองในชุมชนหมู่บ้านมากกว่าถนนหลวงหรือถนนสายหลักและเป็นอุบัติเหตุจากการขับขี่จักรยานยนต์มากที่สุดด้วยประกอบกับ มท.ได้ประเมินสถานการณ์แล้ว เห็นว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวได้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวแล้ว รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้เดินทางถึงภูมิลำเนาของตนในต่างจังหวัดแล้ว

ดังนั้น การห้ามหรือหยุดยั้งคนที่ดื่มสุราหรือคนเมาไม่ให้ขับรถรวมทั้งการดูแลประชาชนและการดำเนินการควบคุมพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนพื้นที่จัดงานสงกรานต์หรืองานรื่นเริงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในช่วงนี้

มท.จึงขอให้จังหวัด/อำเภอและหน่วยงานทุกภาคส่วน ประชุม ศปถ. จว./อำเภอ เน้นย้ำและให้เพิ่มความเข้มงวดตามมาตรการเกี่ยวกับการระงับยับยั้งไม่ให้คนที่ดื่มสุราแล้วมาขับยานพาหนะตามที่ได้แจ้งไปแล้วให้กว้างขวางครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นมากขึ้น ดังนี้

1.การกำหนดให้พื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชนที่จัดงานหรือมีแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านชุมชนต้องกำหนดให้มีสถานที่จอดพักรถยานพาหนะและผู้จัดงานจะต้องจัดให้มีบุคคลมาทำหน้าที่เฝ้าระวังดูแลหรือแจ้งเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะโดยจะต้องมีการรับฝากกุญแจชั่วคราวและต้องไม่คืนกุญแจให้ผู้ดื่มสุราที่มารับรถหรือยานพาหนะอย่างเด็ดขาด

2.จัดชุดเจรจาหรือเคาะประตูบ้านไปพูดคุยทำความเข้าใจกับบุคคลหรือครอบครัวในหมู่บ้าน/ชุมชนที่เคยมีพฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำแล้วแสดงอาการไม่สุภาพหรือผิดจารีตประเพณีหรือผิดกฎหมาย เช่น ยิงปืนขึ้นฟ้า/ขับรถเร็ว/ส่งเสียงเอะอะโวยวาย/ก่อเหตุรำคาญในหมู่บ้านชุมชน เป็นต้นเพื่อให้บุคคลในครอบครัวได้ช่วยกันควบคุมบุคคลหรือลูกหลานในครอบครัวไม่ให้กระทำพฤติกรรมดังกล่าวอีกต่อไป

3.การปรับเปลี่ยนมาตรการอื่นๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ เช่น อาจลดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจในถนนสายหลัก เปลี่ยนมาดูแลจุดตรวจในหมู่บ้าน/ชุมชน หรือปรับกำลังเจ้าหน้าที่จากถนนสายหลักให้มาเป็นชุดลาดตระเวนสอดส่องเน้นตรวจหาแหล่งหรือจุดดื่มสุราในหมู่บ้านหรือให้เฝ้าประจำจุดจัดงานหรือสถานที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อควบคุมการใช้ยานพาหนะของนักท่องเที่ยวหรือหรือตรวจยึดรถหรือกุญแจรถของผู้ร่วมงานที่ดื่มสุรา เป็นต้น

4.เพิ่มเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการให้ตรวจตราอย่างเข้มงวดในร้านหรือบริเวณที่มีการจำหน่ายสุราว่า ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ทั้งในด้านสถานที่/ระยะเวลาและอายุของผู้ซื้อและจำหน่ายสุราอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีการผ่อนปรนอย่างเด็ดขาด ซึ่ง มท.ได้ขอความร่วมมือผู้แทนกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุขในกองอำนวยการ ศปถ. ส่วนกลาง ให้กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปแล้วด้วย

5.ให้ ผวจ./นอภ./ผู้นำในพื้นที่ทุกภาคส่วน ร่วมกันปลุกกระแสการไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ผ่านสื่อทุกประเภทในพื้นที่ และสื่อสังคมให้กว้างขวางรวมทั้งขอความร่วมมือพิธีกร ดารานักแสดงที่มาในงานที่จัดขึ้นหรือพิธีกรสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ ให้ร่วมกันรณรงค์ด้วยคำขวัญต่างๆ อาทิ

"ห้ามคนไม่ให้กินเหล้า เหมือนช่วยเขาอายุยืนยาว"

"อายุจะยืนยาว ถ้างดเหล้าไม่เมามาย"

"รักพวกเรา อย่าให้เมาดีกว่า"

"ไม่ส่งเขาไปตาย อย่าปล่อยให้เขา เมามายไร้สติ"

"ครอบครัวปลอดภัย อย่าปล่อยให้คนเมาขับรถ"

"ดื่มเมาไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย"

ฯลฯ

6.ให้จัดชุดปฏิบัติการที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือ พรบ.สถานบริการฯ หรือพรบ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ออกตรวจสอบในสถานที่สาธารณะหรือพื้นที่ต่างๆให้ทั่วถึงอย่างเข้มข้นตามเงื่อนไขของกฎหมายโดยให้กวดขันการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดในช่วงนี้เป็นพิเศษด้วย

เมื่อจังหวัด/อำเภอได้ดำเนินการตามมาตรการข้อ 1-6 แล้ว ขอให้รายงานผลลัพธ์ (outcome)ให้ มท.ทราบทุกระยะด้วย

นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทย(มท.)ยังส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.) เรื่อง การปรับปรุงรูปแบบการรายงานอุบัติเหตุเนื่องจากรูปแบบการรายงานจำนวนสถิติข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุยังไม่เพียงพอต่อการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

มท. จึงขอให้ ผวจ.และนายอำเภอรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องดำเนินการดังนี้

1.ในการรายงานจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ให้แยกเป็นสาเหตุหรือระบุพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุให้ชัดเจนในแต่ละรอบการรายงานของวัน เช่น กรณีจากเหตุเมาสุราจำนวนกี่ครั้ง  กรณีเหตุขับเร็วเกินกำหนดจำนวนกี่ครั้ง กรณีไม่สวมหมวก/ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจำนวนกี่ครั้ง ฯลฯ

2.ให้เน้นการวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุโดยแยกประเภทรถที่เกิดเหตุพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ขี่จักรยานยนต์ซิ่ง ไม่สวมหมวกกันน็อค นั่งท้ายรถกระบะ บรรทุกเกินกำหนด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ตรากตรำการขับรถจนหลับใน ฯลฯหรือเกิดจากสภาพถนนหรือสภาพรถยนต์หรือยานพาหนะ เป็นต้น

3.การรายงานตามแบบรายงานข้อ 1-2 นั้น ไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นการเปรียบเทียบจำนวนสถิติตัวเลขการเกิดเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและตาย กับสถิติตัวเลขการเกิดเหตุในปีก่อนๆ หรือห้วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากยังไม่มีผลต่อการป้องกัน แก้ไขปัญหาในเชิงระงับยับยั้งแต่อย่างใด

อนึ่ง การรายงานรูปแบบใหม่นี้ต้องการเน้นย้ำเพื่อกระตุ้นเตือนและชี้ให้สังคมเห็นถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากการไม่เคารพกฎระเบียบ วินัยจราจร การตกเป็นทาสของอบายมุข การใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวังหรือขาดสติ รวมทั้งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและเป็นที่มาของการบาดเจ็บ ตาย หรือสูญเสีย ทั้งนี้ เพื่อปลุกกระแสให้สังคมร่วมกันสร้างจิตสำนึกและให้ความร่วมมือกันในการปฏิบัติตนตามระเบียบ กฎหมายและวินัยจราจร เป็นต้น

ทั้งนี้ มท.ได้ให้ กรม ปภ. ปรับแบบฟอร์มการรายงานให้สอดคล้องกับแนวทางข้างต้นและจะแจ้งเป็นหนังสือทางการไปยังจังหวัดต่อไปโดยให้ทุกหน่วยถือปฏิบัติตามรูปแบบการรายงานใหม่นี้ ตั้งแต่ 142400 เม.ย ๖๐ เป็นต้นไป.