เปิดตำนาน! วันสงกรานต์ เถลิงศกปีใหม่ไทย

13 เม.ย. 2560 | 03:35 น.
"วันสงกรานต์ " นับเป็นประเพณีไทยเดิม ที่มีนานหลายปี เป็นวันเถลิงศักราชใหม่ของไทย หรือวันปีใหม่ไทย มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว....

สงกรานต์เป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยสันนิษฐานว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมของอินเดีย ต่อมาได้แพร่ขยายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ ลาว เขมร พม่า จีน และไทย ทั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้ต่างไปจากเดิมบ้าง ทั้งการประกอบพิธี รูปแบบ และพฤติกรรมในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีประเพณีสงกรานต์มาตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์

ก่อนที่เราจะถือวันสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยนั้น สมัยโบราณ เราถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตรงกับราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต เป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ หรือประมาณเดือนเมษายน ครั้นในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน และต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ จอมพลป.พิบูลสงครามก็ได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง ปัจจุบัน อันเป็นการนับแบบสากล ซึ่งคนไทยในหลายภูมิภาคก็ยังยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่

ปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ ส่วนการคำนวณตามหลักในคัมภีร์สุริยยาตร์ กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช เรียกว่า "วันเถลิงศก" โดยปีนี้ วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 14 เมษายน ส่วนวันเถลิงศก คือวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัว หรือชุมชนบ้านเรือนละแวกใกล้เคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย และค่านิยม จากเดิมชาวบ้านจะใช้น้ำเป็นตัวแทนในการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ โดยถือว่า น้ำจะแก้ความร้อนของฤดูร้อน และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปถึงการระลึกบุญคุณต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ส่วนประเพณีสงกรานต์ในสมัยใหม่นั้น จะเป็นประเพณีกลับบ้านเกิดเสียมากกว่า หรือถือว่าเป็นวันครอบครัว