ทางออกนอกตำรา : สงคราม 3 เจ้าสัว “ซีพี-เจริญ-เซ็นทรัล”

12 เม.ย. 2560 | 11:18 น.
ทางออกนอกตำรา

โดย : บากบั่น บุญเลิศ

สงคราม 3 เจ้าสัว “ซีพี-เจริญ-เซ็นทรัล”

ในบรรดาเศรษฐีของไทย ต้องนับเอาคนใน 3 ตระกูล ที่แข่งขันกันขึ้นอันดับ 1 ที่รวยที่สุดในประเทศ

21 มีนาคม 2560 " ฟอร์บส์" นิตยสารด้านธุรกิจ-การเงินชื่อดังของสหรัฐฯ  เผยรายงานการสำรวจผู้ที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดในโลกประจำปี 2560 ปรากฏว่า มีมหาเศรษฐีไทยติดอยู่ในการจัดอันดับครั้งนี้ 20 คน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 16 คน ในการจัดอันดับเมื่อปีที่แล้ว โดยตำแหน่งมหาเศรษฐีที่มีฐานะร่ำรวยสุดของไทย ตกเป็นของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี  เจ้าสัวเบียร์ช้าง ติดอันดับ 62 ของโลก

เจ้าสัวเจริญ มีทรัพย์สินรวม 15,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 548,000 ล้านบาท มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 177,120 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ขณะที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี อยู่ในอันดับ 132 ของโลก มีมูลค่าสินทรัพย์ 9,700 ล้านดอลลาสหรัฐฯหรือตกประมาณ 336,396 ล้านบาท

แต่เมื่อพิจารณาความร่ำรวยของคนในตระกูลกลับมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อผลสำรวจของฟอร์บส์พบว่า ตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีสินทรัพย์รวมกันถึง 27,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือตกประมาณ 971,500 ล้านบาท
อันดับสอง เป็นของนายเจริญ  มีทรัพย์สินรวมทั้งหมดกว่า 5.5 แสนล้านบาท

อันดับสาม เป็นของตระกูลจิราธิวัฒน์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีก ที่มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 483,996 ล้านบาท

ฟอร์บส์ทิ้งปมให้ชวนติดตามว่า เศรษฐีไทยที่ควรสนใจคือ "นายวิชัย ศรีวัฒนประภา" จากลุ่มคิง เพาเวอร์ เจ้าของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ทะยานขึ้นมารั้งอันดับ 3 ของประเทศและอันดับ 414 ของโลก ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือตกประมาณ 145,656 ล้านบาท ปีที่แล้วปีเดียวรวยขึ้นถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 48,552 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 3 ตระกูล กำลังมุ่งเป้าจากธุรกิจหลักที่สร้างความร่ำรวยให้ครอบครัวไปสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กันทั้งสิ้น

เจ้าสัวเจริญ กำลังสร้างอาณาจักรไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น  (ทีซีซีกรุ๊ป) บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศ) จำกัด และ กลุ่ม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย)  เฉพาะทีซีซี แอสเซ็ท ที่"ปณต สิริวัฒนภักดี "ทายาทคนสุดท้องน้องสุดท้ายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีโครงการลงทุนอยู่ในแผนขณะนี้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ มี ซีพี แลนด์ และ บริษัท แมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น โดยซีพีแลนด์นั้นมีโครงการอาคารสำนักงานในภูมิภาครวม  17 จังหวัด ปีนี้จะลงทุนอย่างต่อเนื่องใน 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์ประชุม และนิคมอุตสาหกรรม

ผมมีโอกาสเจอะเจอผู้บริหารของกลุ่มซีพี แลนด์ เขาบอิกว่า ตั้งแต่ปีนี้ไปกลุ่มซีพี แลนด์ตั้งเป้าขยายโรงแรมภายใต้แบรนด์ฟอร์จูนดี และฟอร์จูนดีพลัส ในต่างจังหวัด ปีละไม่ต่ำกว่า 5-10 แห่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพและเป็นเมืองท่องเที่ยว ปี 2560 มีแผนเปิดโรงแรมเพิ่ม 4 แห่ง จำนวน 317 ห้อง ปี 2561 จะเปิด 5 แห่ง จำนวน 717 ห้อง   มูลค่าการลงทุนในปี 2560-2561 จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยเมื่อสิ้นปี 2561 จะมีโรงแรม 14 แห่ง จำนวน 2,000 ห้อง

กลุ่มจิราธิวัฒน์นั้นชัดเจนว่า ใช้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เป็นตัวขับเคลื่อนในการสร้างศุนย์การค้าโรงแรมเพื่อสยายปีด้านการค้าปลีกออกไปทั่วเมืองไทยและอาเซี่ยน

อย่างไรก็ตาม สนามรบที่ดุเดือดเลือดพล่านที่สุดที่มการชิงชัยกันอย่างหนักระหว่าง “ซีพีแลนด์-ทีซีซีกรุ๊ป-เซ็นทรัพลพัฒนา” หลังจากนี้ไปพื้นที่สถานทูตอังกฤษเนื้อที่ 23 ไร่ บนถนนวิทยุ ทำเลทอง ว่ากันว่ามีมูลค่าที่ดินสูงที่สุดในกรุงเทพฯ มีการประเมินว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านบาท/ตารางวา แต่การซื้อขายจะสูงถึง 18,000 ล้านบาท เลยทีเดียว เพราะ 3 เจ้าสัว ยื่นมือเข้าไปช่วงชิงกัน

อีกพื้นที่หนึ่งที่จะเป็น สนามประมูลที่ดุเดือดคือ ที่ดินของสถานทูตออสเตรเลีย ถนนสาทร เนื้อที่รวม 7 ไร่ 382 ตารางวา ราคาประเมินเทียบเคียงเฉลี่ยตารางวาละ 2 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ดินสถานทูตอังกฤษ ในเบื้องต้นมีผู้เสนอราคาไม่ต่ำกว่า 6,500 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2560

แม้ข่าวเบื้องต้นจะระบุว่า ทางกลุ่ม เจ้าสัวซีพี มีโอกาสจะคว้าไปได้ในราคา 7,000 ล้านบาท แต่ข่าวล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาคือการที่ “โสมพัฒน์  ไตรโสรัส” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีซีแลนด์ ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดอดพบผู้ใหญ่ของรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อขอซื้อพื้นที่ก็สะท้อนได้ว่า สงครามช่วงชิงทำเลทองของ 3 เจ้าสัว ในการสยายปีอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ ย่อมรุนแรงขึ้น

นี่ไม่นับทำเลทองย่านชุมทางบางซื่อ ที่กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ปักธงผุด เกตเวย์บางซื่อ บนพื้นที่ 8 ไร่ ติดรถไฟฟ้า  ขณะที่กลุ่ม เซ็นทรัลพัฒนา ก็วางแผนชิงเค้กพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ มาอยู่ในมือ เพื่อสร้างอาณาจักรค้าปลีกและโรงแรม

นับจากนี้ไป การแข่งขันกันขยายอาณาจักรด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเศรษฐีไทยทั้ง 3 ตระกูล จะเห็นภาพของการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นแน่นอน…ไม่เชื่อโปรดติดตาม
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3252  ระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย.2560