กรมพัฒน์ตามติดบจ.เวลท์เอเวอร์ชี้ไม่มีวัตถุประสงค์ทำท่องเที่ยวหรือขายตรง

12 เม.ย. 2560 | 07:13 น.
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เฝ้าติดตาม บจ.เวลท์เอเวอร์ อย่างใกล้ชิด หลังนักท่องเที่ยวชาวไทยถูกลอยแพกลางสนามบินสุวรรณภูมิจนไม่สามารถเดินทางไปญี่ปุ่นได้ เบื้องต้นได้ตรวจสอบสถานะพบจดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ท่องเที่ยวหรือขายตรง พร้อมฝากเตือน ประชาชนก่อนทำธุรกิจหรือซื้อสินค้า/บริการควรตรวจสอบสถานะนิติบุคคลให้ละเอียดก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่านักท่องเที่ยวชาวไทยถูกบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ลอยแพกลางสนามบินสุวรรณภูมิจนไม่สามารถเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นได้นั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเป็นหน่วยงานรับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลได้เร่งดำเนินการตรวจสอบสถานะบริษัทฯดังกล่าว

เบื้องต้นพบว่า บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท (แบ่งออกเป็น 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท) กรรมการมี 1 คน คือ นางสาวพสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 88/6 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งจำนวน 24 ข้อ โดย 22 ข้อ (ข้อ 1 - 22) เป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป ส่วนอีก 2 ข้อ (ข้อ 23 - 24) เป็นวัตถุประสงค์หลัก คือ ข้อ 23 ประกอบกิจการผลิตและจำหน่าย นำเข้า - ส่งออก น้ำดื่ม ชา กาแฟ น้ำแร่ และเครื่องดื่มทุกชนิด  และ ข้อ 24 ประกอบกิจการผลิตและจำหน่าย นำเข้า - ส่งออก กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ทุกประเภท

“จะเห็นได้ว่า บริษัทฯ ดังกล่าว ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือธุรกิจขายตรง/ธุรกิจตลาดแบบตรงแต่อย่างใด ซึ่งการประกอบธุรกิจนำเที่ยว/ท่องเที่ยว ต้องดำเนินการขออนุญาตประกอบธุรกิจจากกรมการท่องเที่ยวก่อน ถึงจะจดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจนำเที่ยว/ท่องเที่ยวได้ และการประกอบธุรกิจขายตรง/ธุรกิจตลาดแบบตรง ต้องดำเนินการขออนุญาตประกอบธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก่อน ถึงจะจดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจขายตรง/ธุรกิจตลาดแบบตรงได้”

ทั้งนี้ในกรณีที่บริษัทฯ ประกอบกิจการนอกวัตถุประสงค์ที่ได้จดไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหากเกิดการร้องทุกข์กล่าวโทษเกิดขึ้น บริษัทหรือกรรมการต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เรื่องนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะดำเนินการเฝ้าระวังและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตามฝากเตือนประชาชนว่าก่อนที่จะทำธุรกิจ หรือซื้อสินค้า/บริการ ควรตรวจสอบสถานะของนิติบุคคลให้ละเอียดก่อนร่วมลงทุนหรือซื้อสินค้า/บริการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตโดยสามารถตรวจสอบสถานะนิติบุคคลเบื้องต้นได้ที่แอพพลิเคชั่นของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า DBD e-Service โดยไม่มีค่าใช้จ่าย