“อาคม”เผยรถไฟไทย-จีนคาดลงนามเดือนมิ.ย.ได้ 2 สัญญา

11 เม.ย. 2560 | 13:03 น.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังการร่วมหารือและลงนามบันทึกผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 17 ที่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2560 ว่า ที่ประชุมได้มีการปรับแผนเพื่อให้เข้ากับสภาพการใช้งานในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีความคืบหน้าเรื่องของการร่างสัญญา EPC -2.1 สัญญาออกแบบ และ EPC-2.2 สัญญาควบคุมงาน ได้ข้อสรุปร่วมกันเกือบ 100 %  โดยจะเหลือบางส่วนเท่านั้น คาดว่าทั้ง 2 ส่วนนี้จะสามารถสรุปได้ภายเดือน เมษายน 2560  สำหรับแบบก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร และ 11 กิโลเมตร ทั้งนี้ ได้มีการยืนยันว่าจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 สัญญานี้ คาดว่าจะสามารถลงนามได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2560 และจะเปิดประกวดราคาหาบริษัทผู้รับเหมาในประมาณเดือนกรกฎาคม -สิงหาคม 2560 โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการในช่วงแรกได้ประมาณ เดือนสิงหาคม 2560 ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างจะใช้ระยะ 4 ปี นับจากการเริ่มก่อสร้างช่วงแรก

สำหรับระยะทาง ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก)  / ตอนที่ 2 จากปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง  11 กม. / ตอนที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119 กม. / และตอนที่ 4  กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119 กม. โดยมูลค่าโครงการ 179,412 ล้านบาท

นอกจากนี้ สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นกรุงเทพฯ-ระยอง ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้รับนโยบายรัฐบาล เพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยจะเป็นลักษณะการเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา โดยเป็นการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ โดยกระทรวงคมนาคมรับมติที่ประชุมมาเพื่อดำเนินการศึกษารายละเอียด ซึ่งในวงเงิน 100 ล้านบาท ทั้งนี้ การศึกษานั้นจะต้องดูความเหมาะสมว่าหากจะต้องเชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภาจะต้องมีมูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ มีรายละเอียดเพิ่มอย่างไร และการเชื่อมต่อมายังสนามบินสุวรรณภูมินั้น จะใช้ระบบแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์หรือไม่  สำหรับกรอบดำเนินงานมอบหมายให้หาบริษัทที่ปรึกษาโครงการ 1 เดือน และจะต้องได้ข้อสรุปเรื่องของบริษัทผู้รับเหมาภายในปลายปี 2560