ส่องแลนด์มาร์คใหม่ ‘สวนลุม’ ดันไทยเทียบชั้นโลก

16 เม.ย. 2560 | 03:00 น.
เมกะโปรเจ็กส์หลักพันล้านไปจนถึงแสนล้าน รายรอบสวนสาธารณะกลางใจกรุงเทพมหานคร "ลุมพีนีปาร์ค" ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า หลังบิ้กทุนดาหน้าประกาศตอกเสาเข็มปีนี้และเมื่อโครงการเหล่านี้เปิดบริการ นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะพลิกโฉม สวนลุมพินีให้เป็น"แลนด์มาร์ค" แห่งใหม่ของประเทศไทย โดยมีจุดขายสีเขียวของสวนขนาดใหญ่ และยกระดับกรุงเทพเป็นเมืองหลวงที่เทียบชั้นเมืองชั้นนำของโลก อย่าง นิวยอร์ค ที่มี เซ็นทรัล ปาร์ค อยู่ใจกลางเมือง ลอนดอนมี ไฮด์ ปาร์ค ( Hyde Park ) หรือโตเกียว มี อิมพีเรียล พาเลส อีส การ์เด้นท์ (Imperial Palace East Garden ) ในอนาคตอันใกล้

 3 บิ๊กทุนปักหมุดร่วม2แสนล.
ทั้งนี้เมื่อประเมินเม็ดเงินทุนใหม่ที่เตรียมจะปักหมุดแค่ 3 โครงการ ก็ปาเข้าไปร่วม 1.7 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการ วัน แบงกค็อก ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี บนเนื้อที่ 104 ไร่ เงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเจ้าสัว "เจริญ" มั่นหมายจะปั้นโครงการนี้เป็นแลนด์มาร์คระดับโลก โครงการมิกส์ยูสหัวมุนถนนสีลมของโรงแรมดุสิตกับกลุ่มเซ็นทรัล มูลค่า 3.67 หมื่นล้านบาท และโครงการมิกส์ยูส อาคารสีบุญเรือง อีก 1.6 หมื่นล้านบาท

"เจ้าสัวเจริญ " กล่าวในวันแถลงข่าวตอนหนึ่งในวันเปิดตัว วัน แบงค็อกว่า"ผมตั้งใจจะทำยังไงให้เป็นแลนด์มาร์คให้กับประเทศไทย เวลานี้ อาเซียนก็เกิดขึ้น สิ่งทำได้ในกลุ่มก็ลงทุนไปแล้ว เวลาเดียวกันจะทำยังไงให้พื้นที่แปลงนี้มีค่าต่ออาเซียน และต่อเอเซียกับโลก ซึ่งชาวโลกจะเข้ามาประเทศเราเยอะขึ้น"

มิเพียงแค่นี้ยังมีหลายโครงการที่สุ่มเงียบรอจังหวะที่จะพัฒนาใกล้กับสวนลุมพินี บนถนนราชดำริ อาทิ โครงการรีเจ้นท์ เฮ้าส์ ของตระกูล "เตชะไพบูลย์" ซึ่งมีแผนจะทุบสร้างโครงการมิกส์ยูสขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เพนนินซูล่า พลาซ่า ก็อยู่ระหว่างการหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาพัฒนา และยังมีที่ดิน 7 ไร่ของสถานทูตญี่ปุ่น ถนนสาทร ที่อยู่ระหว่างการประมูลอีกเช่นกัน

mp34-3252-a

 "เตชะไพบูลย์" จ่อผุดมิกส์ยูส
"ปิยะมานด์ เตชะไพบูลย์" เจ้าของอาคารรีเจ้นท์ เฮ้าส์ เผยว่า ไม่มีนโยบายขายที่ดินแน่นอนเนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง เป็นผืนที่ดิที่มีกรรมสิทธิ์ (ฟรีโฮลด์) ซึ่งหาไม่ได้ ในอนาตตมีแผนนำที่ดินจำนวน 4 ไร่ ที่ตั้งของอาคารดังกล่าวมาพัฒนา โครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย มีร้านค้า อาคารสำนักงานให้เช่า และถ้าพัฒนาคงจะเป็นโครงการระดับหรูน้อง ๆ โครงการมหานคร และคงต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนเนื่องจากต้องการโนว์ฮาว

จากถนนราชดำริ เลี้ยวซ้ายมาถนนหลังสวนยังมีโครงการระดับซูปเปอร์ลักชัวรีที่กำลังพัฒนาอีก 2 โครงการทั้ง "นิมิตรหลังสวน" คอนโดฯหรูหรา มูลค่า 7,500 ล้านบาท ของ เพชร ดิเวลอปเม้นท์ ขายในราคา3 แสนบาทต่อตารางเมตร และโครงการมิกส์ยูส "หลังสวนวิลเลจ" บนเนื้อที่ 56ไร่ ของ สินทร เรสซิเดนซ์ มูลค่า 4,600 ล้านบาทไม่รวมที่ดิน
ย้อนมาฝั่งที่ดินแปลงงามโรงเรียนเตรียมทหารเดิมถัดจาก "วัน แบงค็อก" ในรัศมี 3 สถานีรถใต้ดิน(MRT) ยังมีโครงการสามย่านมิดทาวน์ ที่กำลังก่อสร้าง และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติที่กำลังออกแบบสร้างใหม่มูลค่าร่วมหมื่นล้านบาท ทั้ง 2 โครงการเป็นของเจ้าสัวเจริญ ลากยาวมาฝั่งเพลินจิต ยังที่ดิน 25 ไร่ สถานฑูตอังกฤษ ซี่ง ค่ายเซ็นทรัลประมูลได้ก็กำลังอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา โรงแรมปาร์ค นายเลิศ ซึ่งขายอาคารและที่ดิน 15 ไร่ให้กับหมอเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่กำลังจะผุดศูนย์สุขภาพครบวงจรระดับโลก

 จุดขายใหม่กลางกรุง
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วิเคราะห์ว่าจุดได้เปรียบของ สวนลุมพีนี สีลมและย่านใกล้เคียงเป็นเพราะมีระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงทั้ง 2 รูปแบบคือลอยฟ้า (บีทีเอส) และใต้ดิน(เอ็มอาร์ที) ผ่านจุดนี้จึงจะทำให้โครงการมิกส์ยูสของหัวมุนถนนสีลมของค่ายดุสิตธานีกับกลุ่มเซ็นทรัลดูจะโดดเด่นที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่า โครงการของอาคาร สีบุญเรือง ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล – บริษัทนายณ์เอสเตท และบ.สิวะดล เจ้าของที่ดิน ก็จะเป็นคู่แข่งสำคัญด้วยเช่นกันแม้จะอยู่ถัดไปในถนนสีลม แต่รูปแบบการลงทุนคล้ายกันคือโรงแรม ที่อยู่อาศัย และออฟฟิก สำนักงานให้เช่า

"ชนินธ์ โทณวณิก" กล่าวว่า ทำเลโดยรอบสวนลุมพินีอนาคตจะเป็นทำเลที่ดีที่สุด ของย่านใจกลางเมืองที่มีศูนย์สาธารณะขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ซึ่งจะทำให้กรุงเทพ เป็นเมืองที่เทียบชั้นมหานครระดับโลกไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ค ซึ่งมี เซ็นทรัล ปาร์ค ลอนดอน มี ไฮด์ปาร์ค อยู่ใจกลางเมือง หรือโตเกียว ก็เช่นเดียวกัน

สวนลุมพินีจะเป็นจุดขายที่สำคัญเป็น"แลนด์มาร์ค" แห่งใหม่ ของเมือง ภายใน 5 ปีจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น หลังโครงการขนาดใหญ่ เริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดเป็นรูปธรรม ที่จะผลักดันให้โครงการที่อยู่อาศัยรอบ ๆ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย ทายาทโรงแรมดุสิตธานี ให้ความเห็น

จากปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เชื่อว่าทุนใหญ่อย่าง "เซ็นทรัล" อาจจะแอบดีใจอยู่ลึก ๆ ที่ประมูลที่ดินแปลงใหญ่โรงเรียนเตรียมทหารแพ้ค่ายเจ้าสัวเจริญ และหันมาจับคู่กับ "ดุสิตธานี" แทนเพราะพื้นที่ 24 ไร่เหมาะแก่การพัฒนามากกว่า หากได้ที่ดินแปลงใหญ่ต้องหาโครงการต่าง ๆ เข้ามาลงทุน ซี่งไม่ง่ายนักและยังสุ่มเสี่ยง

ท่ามกลางความหวั่นเกรงว่าหากเมกะโปรเจ็กส์ดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จ จะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายตามมาหรือไม่ ?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560