ไฟเบอร์ออฟติกเดือดเอกชนเดินหน้ารุกตลาดเออีซี

14 เม.ย. 2560 | 12:00 น.
เป็นเพราะตลาด AEC ( Asean Economics Community) หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเปิดตลาดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กลุ่มทุนไทย ขยายตลาดไปลงทุน ไม่เว้นแม้แต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่นบริการวงจรสื่อสารความเร็วสุงต่างสยายปีกต่อยอดธุรกิจ

 เบญจจินดาร่วมทุนเมียนมาร์
ขณะที่บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งครอบครัวเบญจรคกุลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท เมียนมาร์ อินฟอร์เมชั่นไฮเวย์ ลิมิเต็ด (MIH) ผ่าน บริษัท ยูไอเอช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในกลุ่มบริษัทเบญจจินดา บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด บริษัท ยูไนเต็ด ดีสทริบิวชั่น โซลูชั่น จำกัด บริษัท เอ แอนด์เอฟคอมมูนิเคชั่น จำกัด และนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อให้บริการ บรอดแบนด์ระดับพรีเมียมในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เริ่มให้บริการติดตั้งวางระบบที่เมืองย่างกุ้ง เป็นแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. 2558

 MIH ได้สิทธิ์พาดสายไฟเบอร์
นายสันติ เมธาวิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมียนมาร์ อินฟอร์เมชั่นไฮเวย์ ลิมิเต็ด หรือ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ระดับพรีเมียมในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามเซ็นต์สัญญากับ MaungMuangLatt, Chairman of the Board, YESC การไฟฟ้าย่างกุ้ง (YESC) ซึ่ง MIH ได้รับสิทธิ์พาดสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) บนเสาไฟฟ้าทั่วเมืองย่างกุ้ง โดย MIH จะดำเนินการติดตั้ง สายเคเบิลใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้บริการระบบสื่อสารความเร็วสูงและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

นอกจากนี้แล้วกลุ่มบริษัทเบญจจินดา โอลดิ้ง ได้เข้าไปร่วมทุนใน บริษัท ทีทูพี จำกัด (T2P) สตาร์ตอัพกับ City Mart Holding Co., Ltd กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพื่อให้บริการ e-wallet เริ่มจากการให้บริการใน City Mart Super Market

  symc ผนึก “TIME”
ขณะที่ บริษัท ซิมโฟนีคอมมูนิเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ SYMC ได้พันธมิตรใหม่ คือ บริษัท ไทม์ ดอทคอม เบอร์ฮาด จำกัด เข้ามาลงทุนในบริษัท ซึ่งจะดำเนินการผ่านบริษัท ไทม์ ดอทคอม อินเตอร์เนชันแนล เอสดีเอ็น บีเอชดี (TIME dotCom International SdnBhd) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ผู้ยื่นข้อเสนอถือครองหุ้นอยู่ทั้งหมด (ผู้ยื่นข้อเสนอ)

โดยการทำคำเสนอซื้อหุ้นบางส่วน (Partial Tender Offer) (หนังสือแจ้งความประสงค์ฯ) เพื่อซื้อหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราขั้นต่ำ 35% แต่ไม่เกิน 37% ของจำนวนหุ้นที่ออก และชำระแล้วของบริษัท ในราคาเสนอซื้อที่ 12.20 บาทต่อหุ้น แต่หากมีผู้ถือหุ้นแสดงเจตนาขายหุ้นมากกว่า 37% ของจำนวนหุ้นที่ออก และชำระแล้วของบริษัท ผู้ยื่นข้อเสนอจะรับซื้อโดยใช้วิธีจัดสรรตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาขาย (pro-rate)

  “ไฟเบอร์วัน”จ่อบุกเวียดนาม
ในธุรกิจวงจรสื่อสารความเร็วสูงไม่ได้มีแต่ ยูไอเอช และ ซิมโฟนี่ เท่านั้น หากแต่ตอนนี้ยังมี บริษัท ไฟเบอร์วัน จำกัด (มหาชน) ให้บริการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกถึงที่พักอาศัยและชุมชนของผู้อยู่อาศัย โดยร่วมมือกับนิติบุคคลอาคารชุด และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในการติดตั้งโครงข่ายดิจิทัลแบบรวมศูนย์ (Digital Service Platform) เพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการดิจิทัลอื่นๆในอนาคต

โครงข่ายที่ไฟเบอร์วันติดตั้งให้กับผู้อยู่อาศัยเป็นโครงข่ายในระดับ access network หรือ end-user network ซึ่งหมายถึงโครงข่ายที่เดินสายไฟเบอร์ออฟติกเข้าถึงบ้านแต่ละหลัง หรือห้องพักในคอนโดมีเนียมแต่ละห้อง แทนสายทองแดงในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า โดยการติดตั้งโครงข่ายนี้ ไฟเบอร์วันมิได้คิดค่าบริการใดๆจากเจ้าของโครงการที่พักอาศัย หรือจากนิติบุคคลที่บริหารจัดการโครงการ หรือจากผู้อยู่อาศัยแต่ละรายแต่อย่างไร นอกจากนี้ ไฟเบอร์วันยังให้บริการดูแลและซ่อม บำรุงรักษาโครงข่ายดิจิทัลแบบรวมศูนย์นี้เป็นเวลา 15 ปีด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทเอง นอกจากนี้แล้ว ไฟเบอร์วัน ยังมีแผนในอนาคตขยายไปยังประเทศเวียดนามอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560