น้ำมันยังไม่แตะ 56 ดอลลาร์ ผู้ค้าจับตาปัจจัยรัสเซีย-อิหร่าน ‘กระพือราคา’

14 เม.ย. 2560 | 01:30 น.
การเผชิญหน้าระหว่างซีเรีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ภายหลังจากที่สหรัฐฯยิงจรวดโทมาฮอว์ก 59 ลูกถล่มฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งในซีเรีย เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อราคานํ้ามันซื้อขายล่วงหน้าในตลาดโลก ทั้งยังเป็นประเด็นจับตาอย่างยิ่งว่า อิหร่าน ผู้ส่งออกนํ้ามันรายใหญ่ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญของซีเรีย จะมีปฏิกิริยาอย่างไร

นักวิเคราะห์ในตลาดน้ำมันโลกกำลังจับตาท่าทีของรัสเซียและอิหร่าน พันธมิตรสำคัญของซีเรียว่าจะตอบโต้หรือมีท่าทีอย่างไรภายหลังการโจมตีซีเรียด้วยขีปนาวุธของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้มองว่า ท่าทีของรัสเซียและอิหร่านจะเป็นตัวกำหนดราคาที่จะขยับขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์เผชิญหน้าดังกล่าว

การโจมตีซีเรียด้วยขีปนาวุธเทอร์มาฮอว์กของสหรัฐฯเพื่อเป็นการสั่งสอนรัฐบาลซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีในการโจมตีพลเรือนฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าขยับราคาขึ้นแล้ว 2% แม้ว่าการขยับขึ้นของราคาจะเป็นปฏิกริยาตอบสนองแบบฉับพลันของตลาดที่มีต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ผู้ค้ากำลังคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตว่า ท่าทีของสหรัฐฯอาจเป็นเพียงการเปิดฉากที่นำไปสู่การเข้ามีบทบาทมากขึ้นของสหรัฐฯในสงครามกลางเมืองของซีเรีย และรัสเซียกับอิหร่าน ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของประธานาธิบดีบาชาร์ อัสซาด ของซีเรีย จะมีปฏิกริยาตอบโต้ในเรื่องนี้อย่างไร

โจนาธาน ชาน ผู้ค้าจากบริษัท ฟิลลิป ฟิวเจอร์สฯ ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดหวั่นว่าสถานการณ์เผชิญหน้าจะบานปลายและทวีความรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อเส้นทางการลำเลียงน้ำมัน โดยเฉพาะจุดที่ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุสในอ่าวเปอร์เซีย “หากความขัดแย้งยืดเยื้อและทวีความรุนแรง โดยรัสเซียเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลซีเรีย นั่นก็จะทำให้ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นไปอีกเพื่อชดเชยความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่งซึ่งไม่นานมากนักเนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองในที่ต่างๆทั่วโลกยังมีมากพอที่จะทดแทนส่วนที่ติดขัดหรือหายไปจากภาวะสงครามในซีเรีย ดังนั้น ผลกระทบจากกรณีความขัดแย้งดังกล่าว นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีขอบเขตจำกัด “ซีเรียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายเล็กและไม่มีเส้นทางท่อน้ำมันหลักๆที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ แต่ทุกอย่างจะแปรเปลี่ยนไปได้ หากมีการโจมตีทางอากาศอีกและการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซีย อิหร่าน หรืออิรัก กับสหรัฐฯมีความตึงเครียดมากขึ้น” จิโอวานนี สตาอูโนโว นักวางกลยุทธ์ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ธนาคารยูบีเอสกล่าว

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ท่าทีของสหรัฐฯเป็นเพียงการตอบโต้หรือเตือนซีเรียกรณีที่นำอาวุธเคมีมาใช้กับกลุ่มกบฏ มากกว่าที่จะบ่งชี้ว่าสหรัฐฯต้องการเข้ามามีบทบาททางตรงในสงครามกลางเมืองของซีเรีย “ดังนั้นในระหว่างที่เราเฝ้ามองสถานการณ์ว่าจะคลี่คลายไปในทางใดเป็นลำดับต่อไป ก็เป็นไปได้ที่ว่าราคาน้ำมันจะเริ่มปรับลดลงมา การคาดเดาใดๆในเวลานี้ถือว่ายังเร็วเกินไป”

แฮร์รี ชิลลิงกิวเรียน ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารพีเอ็นบี พาริบาส ให้ความเห็นเพิ่มเติม

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังมองว่า การโจมตีซีเรียของสหรัฐฯจะไม่เป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในตลาดน้ำมันอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะก่อนหน้านี้ ตลาดก็ปรับตัวรับมือข่าวเชิงลบต่างๆมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน จึงเชื่อว่าตลาดมีการปรับตัวรับความเสี่ยงมานานแล้วและน่าจะบวกค่าความเสี่ยงดังกล่าวเข้าไปในราคาน้ำมันอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา ต้นสัปดาห์นี้ (10 เม.ย.) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขยับราคาขึ้นเพียง 0.3% มาอยู่ที่ 55.39 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสขยับขึ้น 0.5% สู่ระดับ 52.48 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล สะท้อนอุปสงค์ที่ยังคงเพิ่มขึ้นและความไม่แน่นอนในซีเรีย แต่ปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นจากแหล่งผลิตในสหรัฐอเมริกาเป็นข่าวที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้ปรับตัวมากขึ้นไปกว่านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560