‘สำรองเลี้ยงชีพ’แข่งดุ บลจ.กสิกรไทยชูจุดแข็งรักษาแชมป์

15 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้นๆ ซึ่งแย่งชิงลูกค้าและขยายตลาดอย่างหนัก ล่าสุดบลจ.กสิกรไทย สามารถชิงส่วนแบ่งกลับมาเป็นอันดับ 1 ได้ณ สิ้นปี 2559 ที่ผานมา หลังจากปี 2558 ตกไปอยู่อันดับ 2

 เป้าหมายรักษาส่วนแบ่งอันดับ1
“เกษตร ชัยวันเพ็ญ” รองกรรมการผู้จัดการบลจ.กสิกรไทยฯให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวโน้มธุรกิจในปี 2560 นี้ โดยตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ระดับ 10% มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2559 มีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท โดยยังคงมุ่งรักษาส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 เน้นรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายกลุ่มลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะบริษัทเอกชน แม้มีขนาดเล็กก็สามารถตั้งกองทุนได้โดยเข้ากองทุนหลายนายจ้าง (พูลฟันด์) คือ กองทุนเค มาสเตอร์พูลฟันด์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีขนาด 6 หมื่นล้านบาท ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพราะหากบริษัทมีขนาดเล็กการทำ Empoyee Choice เปิดให้สมาชิกลงทุนได้หลายทางเลือกจะทำได้ลำบาก

“ปีที่ผ่านมาเราสามารถเพิ่มสินทรัพย์จนขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้เหมือนเดิม หลังจากปี 2558 ตกไปอยู่อันดับ 2 มูลค่าสินทรัพย์ 1.37 แสนล้านบาท ห่างจากอันดับ 1 ไม่ถึง 3,000 ล้านบาท จากที่ผ่านมาครองอันดับ 1 เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกันในปี 2553-2557 ซึ่งยอมรับว่าธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังแข่งขันกันสูง”

สำหรับกลยุทธ์ของบลจ.กสิกรไทย ยังคงเน้น 4 ด้าน คือ คุณภาพ อัตราผลตอบแทน การบริการและอินโนเวทีฟโปรดักต์ ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารบริหารผลตอบแทนให้สมาชิกอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยสมาชิกสมารถเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง แบ่งเป็น กลุ่มที่ลงทุนหุ้นไม่เกิน 25% ส่วนที่เหลือเป็นตราสารหนี้ ได้ผลตอบแทนประมาณ 7% ส่วนสมาชิกที่ลงทุนในหุ้น 100% ได้ผลตอบแทน 25% สูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 19.7% ส่วนสมาชิกที่ยังเน้นรักษาเงินต้นและลงทุนในตราสารหนี้ทั้ง 100% ได้ผลตอบแทนประมาณ 2%

 ลงทุนนอก -เปิดตัวโมบายแอพพลิเคชัน
ในปีนี้บลจ.กสิกรไทยยังมีแผนเปิดนโยบายการลงทุนทางเลือกใหม่ให้สมาชิกได้กระจายเงินลงทุนไปต่างประเทศ รองรับความต้องการของลูกค้า โดยเบื้องต้นให้ลงทุนผ่านกองทุนเคโกลบอล กระจายลงทุนในหุ้นทั่วโลก เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและหลังจากนั้นจะเปิดให้ลงทุนตลาดหุ้นรายภูมิภาค ซึ่งเป็นอีกทางที่น่าสนใจซึ่งปีนี้บริษัทมองตลาดหุ้นเอเชียน่าสนใจ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน การกระจายลงทุนไปต่างประเทศจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนโดยรวม

ขณะเดียวกันเตรียมเปิดตัว “โมบาย แอพพลิเคชัน” สำหรับธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มรูปแบบภายในปีนี้ช่วยให้ลูกค้าดูข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา สามารถเห็นเงินสะสมของตัวเอง เงินส่วนของนายจ้างและเงินลงทุนอยู่ในหุ้น ตราสารหนี้ในสัดส่วนเท่าไร และดูผลตอบแทนย้อนหลังได้ 5 ปี รวมทั้งนำไปวางแผนเกษียณอายุของตัวเองได้ โดยนำเงินสะสมที่มีอยู่ไปคำนวณระบบจะคำนวณให้ว่าเงินสะสมนั้นเพียงพอใช้หลังเกษียณหรือไม่ หากไม่พอก็สามารถลงทุนเพิ่มเติมเพื่อมีเงินตามเป้าหมายและในอนาตจะพัฒนาเครื่องมือในการลงทุนเข้าไปในแอพเพิ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้สมาชิกวางแผนทางการเงินสำหรับรองรับการเกษียณได้ รวมถึงกองทุนภาคบังคับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 ชู 4 จุดแข็งดึงลูกค้า
สิ่งที่ทำให้บลจ.กสิกรไทยฯ สามารถทวงส่วนแบ่งอันดับ 1 กลับมาได้ เชื่อว่ามาจาก 4 ด้าน คือ 1.ชื่อเสียงบลจ.กสิกรไทยฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย 2.ผลการดำเนินงานของกองทุน 3.บุคลากรมีความต่อเนื่องไม่ได้ย้ายเข้าออก และ 4.การพัฒนานวัตกรรมและบริการใหม่ให้ลูกค้า จากจุดแข็งทั้งหมดนี้เชื่อว่าทำให้ลูกค้าเลือกเราโดยกลุ่มลูกค้าปัจจุบันมีทั้งรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนและกลุ่มลูกค้ามหาวิทยาลัย

“เราอยากเห็นการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยบลจ.กสิกรไทยฯไม่เน้นตัดราคาและบริหารให้ฟรี เพื่อแย่งลูกค้าและเชื่อว่าปัจจุบันไม่มีรายไหนทำแล้ว ยกเว้นสิ่งที่ยังพอเห็นอยู่ คือ กรณีที่ลูกค้าขอไม่จ่ายค่าธรรมเนียมหากปีไหนผลตอบแทนติดลบ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำความเข้าใจกันแล้ว”เกษตร กล่าว

สำหรับการเปิดรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เข้ามายังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมอ2559 ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 มีมูลค่าเงินรับโอนมาแล้วเกือบ 400 ล้านบาท จากปัจจุบันมีกองทุน RMF จำนวน 7 กองทุนที่เปิดรับโอนเงินจากกองทุน PVD เข้ามาและในปีนี้จะเปิดให้ครบ 14 กองทุน ส่วนสมาชิกที่ลาออกจากงานหรือย้ายที่ทำงานและยังคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบลจ.กสิกรไทยมีประมาณ 3,800 ล้านบาท

สุดท้ายหากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับเกิด บลจ.กสิกรไทยฯก็พร้อมเป็นทางเลือกหากภาครัฐเปิดทางให้สมาชิกหรือลูกจ้างสามารถเลือกบลจ.บริหารจัดการเงินได้เอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560