อัพเดทแผนปรองดอง คลอดสัญญาประชาคม18พ.ค.

14 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง 36 ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ “ป.ย.ป” เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ เสนอแนะ จัดลำดับความสำคัญ ความเป็นไปได้ของการปรองดอง ทั้งเตรียมจัดทำกฎหมายยุทธศาสตร์และกฎหมายปฏิรูป คู่ขนานไปกับการจัดทำสัญญาประชาคมปรองดองของ 4 อนุกรรมการ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้ปวงชนชาวไทยรับทราบในเดือนมิถุนายนนี้

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดภารกิจเพื่อชาติ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางการทำงานของป.ย.ป.ท่ามกลางแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่กดดันให้รัฐบาลเร่งโหมปี่กลองกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็ว

  ไทม์ไลน์สู่ปรองดอง
พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า หลังโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญลงมา รัฐบาลได้เตรียมกฎหมายไว้ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฎิรูปประเทศ พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... ซึ่งรอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) วันที่ 20-21 เมษายนนี้ โดย พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการ 2 คณะขึ้นมา เพื่อทำกฎหมายให้เสร็จภายใน 120 วัน เมื่อทำเสร็จ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะหมดอายุลง คณะนี้ก็จะเข้าไปแทนที่เพื่อจัดทำแผนปฎิรูป กับแผนยุทธศาสตร์ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อแผนนี้แล้วเสร็จก็จะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกมาเป็น พ.ร.บ.2 ฉบับ เพื่อใช้บังคับรัฐบาลและสภา องค์กรอิสระ ศาล และข้าราชการทั้งหมด ถ้าไม่ดำเนินการตามนี้จะมีความผิดตามมาตรา 157 และจะมีงบประมาณเพื่อรองรับแผนนี้

ต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ คือ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล อ ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีพรรคการเมือง 30 กว่าพรรค องค์กรต่างๆ 60 องค์กร ในต่างจังหวัดให้ กอ.รมน.ดูแลในแต่ละจังหวัด และเปิดพื้นที่รับฟังกำหนดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา

จากนั้นชุด 2.คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ก็จะนำข้อเสนอต่างๆมารวบรวมจัดระเบียบความคิด มอบให้คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน จะเรียบเรียงเป็นสัญญาประชาคม เอาความเห็นข้อเสนอจากทุกฝ่ายมาเขียนเป็นสัญญาประชาคมว่าจะทำอะไรบ้าง โดยเน้นย้ำว่าจะทำการประชาสัมพันธ์ในอนุกรรมการชุดที่ 4 ที่มี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งงานประชาสัมพันธ์มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นต้องให้ประชาชนรู้ตรงนี้จะได้รู้กระบวนการทำงานของการปรองดอง

  ไม่ลงนามสัญญาประชาคม
ผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. กล่าวว่า สิ้นเดือนเมษายนนี้ ทางป.ย.ป.จะจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อร่างสัญญาประชาคมให้เสร็จภายใน 18 พฤษภาคม โดยจะทำเวิร์คชอปกับกลุ่มที่เคยมาแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ใหม่อีกครั้งว่าที่เรียบเรียงไว้ใช่หรือไม่ หรือควรจะเพิ่มเติมอะไรอีก จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ เดือนมิถุนายน 2560 จะมีการประกาศสัญญาประชาคมให้ปวงชนชาวไทยให้รับรู้รับทราบ ซึ่งจะนำไปสู่แผนการปฎิรูปประเทศด้วย

“ ถ้ามองตรงนี้อาจจะยังไม่เห็นสารัตถะของเรื่อง เพราะเป็นช่วงสตาร์ตอัพให้เกิดการปรองดอง ช่วงนี้เขายังบังคับด้วยกฎหมายอยู่ จะเห็นจากคดีในศาลต่างๆ ก็ดำเนินการไปจนถึงเดือนมิถุนายน แล้วจึงเดินตามแผน กลุ่มผู้ทรงุณวุฒิทั้ง 39 ให้คำเสนอแนะทำคู่ขนานไปกับ 2 พ.ร.บ. ซึ่งไม่จำกัดว่าจะอยู่คณะย่อยไหนให้สามารถประชุมรวมหรือประชุมแยกก็ได้

ในการคัดเลือกคนเข้ามาให้ความเห็น ก็มาจาก 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่คัดเลือกเขามาแล้วเอามาเป็นตัวแทน เช่น 1.กลุ่มการเมือง กลุ่มการเมืองจากส่วนกลางและท้องถิ่น 2.กลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ กลุ่มที่ 3 เป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มที่ 4 เป็นภาคประชาสังคม ซึ่งหลังนายกรัฐมนตรีแถลงร่างสัญญาประชาคม แล้วจะไม่มีการลงนามใดๆทั้งสิ้น” พล.อ.เอกชัย กล่าวยืนยัน

 สันติจะเกิดขึ้น ถ้าทุกฝ่ายยอมรับและให้อภัยกัน


พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ กล่าวถึงความคาดหวังที่ประเทศไทยจะเกิดความปรองดองว่า จะคาดหวังได้มากแค่ไหนคงพูดยาก เพราะความเห็นมีความหลากหลายมาก ในการสรุปข้อเสนอแนะจากเวทีปรองดองที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ จะเป็นผู้สรุปความเห็นทั้งหมด คณะทำงานชุดนี้ก็มีนักวิชาการหลายคน ไม่ใช่มีเฉพาะทหาร ส่วนจะได้รับตอบสนองกับประชาชนแค่ไหน ตอนนี้ยังเป็นอารมณ์ที่จะเข้าร่วมได้ไม่เต็มที่ ทำให้ประชาชนรู้สึกเฉยๆ บางคนไม่รู้เรื่อง ประเด็นมีอะไรบ้าง ที่รวบรวมมาก็มีทั้งบอกว่า ด้านการเมือง เกิดจากปัญหาการไม่เคารพประชาธิปไตย และปัญหาเกิดจากการเมือง

ด้านความเลื่อมล้ำ การถือครองที่ดิน การช่วยเหลือเกษตรกรไม่ทั่วถึง เรื่องกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และเข้าถึงทรัพยากร และการศึกษาอยากให้เน้นสายอาชีพ มี 5 เรื่องใหญ่ๆ ถ้าทำเรื่องเหล่านี้ได้ ความปรองดองก็จะเกิดขึ้น

นอกจากนั้นต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการปรองดอง ให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้เอื้อต่อการอยู้ด้วยกันได้ เป็นอิสระ ถกเถียงกันโจมตีกันได้ แต่สุดท้ายต้องฟังกัน แต่เนื่องจากเรื่องการเมือง แต่ก่อนมีศูนย์ปรองดองพร้อมที่จะจัดให้คนมาคุยกัน ตอนนี้ขาดหายไป ทางกลุ่มการเมืองก็อ้างว่าทำไหมหายไปเลย ทำให้การเมืองดูอึมครึม

ท้ายที่สุดปรองดองจะเกิดหรือไม่ พล.อ.เอกชัย มองว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน ที่เป็นห่วงคือเนื่องจากทุกฝ่ายจับแยกกันอยู่ มีคดีอีกเยอะ ทุกฝ่ายโดนหมดทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ยังป็นเงื่อนไขอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้แต่สาธารัฐรวันดา ก็เคยมีความขัดแย้ง ถ้าจะเอาผิดจะหาคุกที่ไหนไปใส่ เขาใช้วิธีการตระหนักให้คนเห็นความสูญเสียที่ตัวเองทำ คือการยอมรับและให้อภัยกัน แม้แต่ที่รบราฆ่าฟันก็ทำอย่างนี้

พล.อ.เอกชัย สะท้อนว่า ถ้ามาที่สถานการณ์ในประเทศไทย ยังเห็นสัญญาณที่จะโจมตีฝ่ายความเห็นตรงข้าม ขนาดถูกห้ามยังโจมตีกันอยู่ เรื่องนี้จึงต้องทำด้วยความตั้งใจจริงและต่อเนื่อง และเดินสายกลางไม่ไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560