จับตาเวียดนาม เครื่องจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย

15 เม.ย. 2560 | 03:00 น.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามเป็นประเทศคู่แข่งที่น่าจับตามองมากที่สุดในอาเซียน เพียงไม่กี่ปีเวียดนามสามารถดึงทุนเอฟดีไอหรือทุนทางตรงจากต่างประเทศ เข้าไปปักฐานในประเทศได้จำนวนมาก เรียกว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทุนทั่วโลกต่างดาหน้าเข้าไปชิงความได้เปรียบในการปูฐานตลาดและฐานการลงทุน โดยเวียดนามใช้ความเหนือกว่าหลายเรื่องดึงดูดทุนทั่วโลกเข้าประเทศ "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ อุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ถึงการเติบโตในเวียดนามที่ประเทศไทยจะมองข้ามไม่ได้นับจากนี้ไป

 ภาพรวมศก.เวียดนาม
กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ฉายภาพเวียดนามว่า เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย ประมาณ 6.4% ตั้งแต่ปี 2543-2559 ซึ่งนับว่าเป็นเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปี 2559 มีการเติบโตที่ 6.21% ขณะที่สถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า ในปี 2560 จากสถานการณ์การค้าโลกที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ประกอบกับปัญหาภาคเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2559 น่าจะมีพัฒนาการเชิงบวก ส่งผลให้ในปี 2560 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตได้ถึง 6.5% และจะคงสถานะเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจทีสำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียต่อไป

 เครื่องมือดึงการลงทุน
ทั้งนี้ปัจจุบันเวียดนามมีนโยบายดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากปัจจัยเอื้อทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง ต้นทุนการผลิตต่ำ แรงงานมีจำนวนมาก ( 50% ของประชากรเวียดนามอยู่ในวัยทำงาน) และสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการทำ FTAs และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว เวียดนามยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านภาษี เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบในกรณีที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในเวลาไม่เกิน 270 วัน นับจากวันนำเข้า การให้สิทธิ์การส่งผลกำไรกลับประเทศโดยไม่เสีย withholding tax การคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างชาติในอัตราเดียวกันกับนิติบุคคลเวียดนามสำหรับธุรกิจทั่วไป และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ หากมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

[caption id="attachment_140465" align="aligncenter" width="503"] จับตาเวียดนาม เครื่องจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย จับตาเวียดนาม เครื่องจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย[/caption]

 มีอะไรคล้ายกันไทย
อุรีรัชต์ มองว่าทั้งไทยและเวียดนามมีความคล้ายกันหลายด้าน เช่น ถ้ามองในแง่นโยบายทางเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ประเทศมีแนวทางการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ทั้ง Thailand 4.0 ของไทยและนโยบาย Industrial Revolution ของเวียดนาม ตลอดจนการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ เห็นว่าจะเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนของ 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันได้ โดยตั้งแต่เวียดนามปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของเวียดนามเกิดขึ้นเมื่อปี 2529 โดยใช้ชื่อเรียกว่า ดอย เหม่ย (DoiMoi) เอกชนไทยนับเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม

ในปี 2559 ไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 10 ในเวียดนาม มีจำนวนโครงการลงทุนทั้งสิ้น 446 โครงการ มูลค่าการลงทุน 7.805 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมากลงทุนในอุตสาหกรรมการแปรรูปและการผลิต การเกษตร และเขตอุตสาหกรรม ซึ่งจังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า จังหวัดด่งนาย และจังหวัดบินห์เยือง ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตกงสุลของสถานกงสุลใหญ่ เป็นจังหวัดที่มีการลงทุนไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก

นอกจากนี้จากการที่ SCG Vietnam จะมีการลงทุนเพิ่มเติมในปี 2560 ก็จะทำให้อันดับการลงทุนของไทยในเวียดนามขยับตัวสูงขึ้น

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ย่อมทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีที่ตั้งและจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน ตลอดจนเป็นประเทศที่มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาค และอาจส่งต่อการลงทุนจากต่างชาติบางส่วนที่ย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนาม แต่ไทยก็ยังมีข้อได้เปรียบในด้านฝีมือแรงงาน และระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ แสดงความเห็นว่า การเติบโตของเวียดนามในภาพรวมเป็นสิ่งที่ดีกับไทย ปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริม Eastern Economic Corridor – EEC ซึ่งใช้ประโยชน์จากการเติบโตของอนุภูมิภาคดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลด้านที่ตั้งและระบบการขนส่งที่ดีของไทย นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตส่งผลให้รายได้ของประชากรเวียดนามเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยเพิ่มขึ้น10% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงเอกชนไทยมีตลาดขนาด 90 ล้านคน สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่เป็นที่นิยมและมีภาพลักษณ์ที่ดีในเวียดนาม

สุดท้ายมองว่าเวียดนามกำลังเป็นที่สนใจของเอกชนไทย จึงเป็นช่องทางในการชวนเชื่อเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโฮจิมินห์ เริ่มได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชนไทยรายย่อยเกี่ยวกับพฤติกรรมของบริษัทที่ปรึกษาในการทำธุรกิจในเวียดนามที่มักแอบอ้างบุคคล องค์กร หน่วยงาน แต่ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ตามที่ตกลงกัน ภาคเอกชนไทยจึงควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกใช้บริษัทที่ปรึกษาที่มีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์การทำงานที่ยาวนาน มีผลงานเป็นรูปธรรม และควรมีการทำสัญญาระหว่างกันให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหากจำเป็น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560