ส่งออกอาหาร 2 แสนล.วืดเป้า ต้นทุน-บาทแข็งพุ่งทุบออร์เดอร์ระยะยาว

13 เม.ย. 2560 | 10:00 น.
เป้าส่งออกอาหารสำเร็จรูปทั้งปี 2.1 แสนล้าน ส่อไปไม่ถึงดวงดาว สมาคมเตรียมลดเป้าหลังพ.ค.หลังบาทแข็งค่า-บรรจุภัณฑ์กระป๋องขึ้นต่อเนื่อง ทุบออร์เดอร์ระยะยาวหดหาย ตัวเลขไตรมาสแรกคาดติดลบไม่เกิน 3% หลังสินค้าหลักอาหารทะเล-สับปะรดกระป๋องยอดวูบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หลังเดือนพฤษภาคมนี้ทางสมาคมจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มสมาชิกของสมาคม ซึ่งอาจจะทำได้ไม่ถึง 2.1 แสนล้านบาทตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อต้นปี ทั้งนี้มีผลสืบเนื่องจากการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มโดยสมาชิกของสมาคม(เกือบ 200บริษัท) ประกอบด้วยกลุ่มทูน่า,อาหารทะเล,สับปะรดกระป๋อง,ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป,ข้าวโพดหวาน,อาหารพร้อมรับประทานและซอสปรุงรส มีมูลค่า 3.03 หมื่นล้านบาทขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.6% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไตรมาสแรกคาดจะติดลบไม่เกิน 3%

โดยกลุ่มที่ยอดส่งออกลดลงได้แก่ อาหารทะเล (-23.6%)เป็นผลจากจากมาตรการไอยูยู(การทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม) ทำให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ราคาขายปรับสูงขึ้นตามต้นทุน ยังผลให้ยอดขายลดลง และกลุ่มสับปะรด (-6.8%) จากราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เกิดภาวะภัยแล้ง รวมถึงผลจากการแข็งค่าของค่าเงินบาททำให้รายได้รูปเงินบาทลดลง

"ผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และมีความผันผวนสูง ขณะที่มีการปรับขึ้นของราคาแผ่นเหล็กตั้งแต่ปีก่อน 2 ครั้ง(รวม 11%) ปีนี้ไตรมาสแรกก็ปรับขึ้นแล้ว(6%)และไตรมาสที่ 2 อาจจะขึ้นต่อทำให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระป๋องโดยรวมสูงขึ้นมาก(กระป๋องเป็นต้นทุนในการผลิตประมาณ 20-50% ตามชนิดสินค้า) ส่งผลให้การเสนอราคาขายสินค้าเพื่อรับออเดอร์ในระยะยาวในขณะนี้มีความยากลำบาก"

เรื่องต้นทุนกระป๋องบรรจุภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ขอความช่วยเหลือจากกรมการค้าภายในในการเชิญร่วมประชุม 3 ฝ่ายคือ บริษัทผลิตแผ่นเหล็ก บริษัทผู้ผลิตกระป๋อง และผู้ประกอบการของสมาคม โดยทางสมาคมมีข้อเสนอขอให้ราคาแผ่นเหล็กที่จะปรับขึ้นให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ไม่ใช่ขึ้นแบบไม่สาเหตุสมผลเหมือนช่วงที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนเสียเปรียบคู่แข่งขัน ซึ่งได้ขอให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่ายทุกครั้งก่อนมีการปรับราคา

"อีกด้านหนึ่งยังมีปัจจัยบวกต่อการส่งออก ที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับขึ้น ทำให้กำลังซื้อส่วนใหญ่ของโลกดีขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมายังทำให้ความมั่นใจในการสั่งซื้อระยะยาวจำนวนมากๆ ยังไม่เข้ามา"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560