ดันเอสเอ็มอีสู่ 4.0 แจ้งเกิดธุรกิจหน้าใหม่ 500 ราย

15 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
เกือบ 7 เดือนแล้วที่ "บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์" ได้นั่งเป็นอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า(พค.)ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่หลักในการดูแลผู้ประกอบการในการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ หรือเลิกร้าง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แก่เอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัพ ปราบปรามการทำธุรกิจแบบนอมินีหรือตัวแทนต่างชาติที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบในเมืองไทย การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประทศ "ฐานเศรษฐกิจ"ฉบับนี้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "บรรจงจิตต์"ถึงแผนงาน ทิศทาง และเป้าหมายการการทำงานของกรมพัฒนาธุรกิจในปีนี้ ทั้งงานหลัก และงานที่ต้องสนองนโยบายรัฐบาลด้านต่างๆ

 ดันเอสเอ็มอีสู่ยุค4.0
"บรรจงจิตต์" กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของกรมในเวลานี้คือ การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เป็นมืออาชีพและพยายามกระตุ้นให้เอสเอ็มอีมีรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ แม้เวลานี้เอสเอ็มอีจะมีหลายหน่วยงานของรัฐช่วยกันดูแลไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งเงินกู้ มาตรการด้านภาษีต่างๆ และทางด้านอื่น ๆ แล้วก็ตาม แต่กรมยังเน้นหนักการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการบริหารจัดการธุรกิจให้เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล เช่นการจัดการด้านบัญชี การจัดการสินค้าคงคลัง และการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายขึ้น

 เพิ่มSMEsต่อยอดส่งออก
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งและทันกระแสโลกธุรกิจในอนาคต ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจไทยด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีดิจิตอล สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่ระดับโลก กรมมีมาตรการส่งเสริมการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี เพื่อผลักดันผู้ประกอบธุรกิจก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบธุรกิจมืออาชีพ

ไม่ว่าจะเป็น DBD Modern Entrepreneurs คือการคัดเลือกนักธุรกิจรุ่นใหม่มาให้ความรู้การเป็นผู้ประกอบการการนำนวัตกรรมในประยุกต์ใช้ ซึ่งกรมตั้งเป้าพัฒนากลุ่มนักธุรกิจหน้าใหม่ในปีนี้อีก 500 ราย , DBD Smart Professional Entrepreneur หรือนักธุรกิจมืออาชีพ กลุ่มนี้จะร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ส่งออกตั้งเป้าไว้ที่ 290 ราย และ DBD Advance Creative Marketer หรือนักการตลาดเชิงสร้างสรรค์จะเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านกลยุทธ์และนวัตกรรมของการเป็นผู้นำด้านการตลาดสมัยใหม่

 เป้าจดทะเบียน6.6หมื่นราย
ขณะที่การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน และบริษัทใหม่ในปีนี้ กรมคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดตัวเลขการจดทะเบียนในปีนี้จะไม่ต่ำกว่าในปี 2559 ที่มียอดทะเบียนกว่า 6.6 หมื่นราย มีปัจจัยจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่สนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น โดยได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการ

เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เป็นต้น รวมถึงมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจและการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในปีนี้โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ และร้านค้าปลีกเครื่องประดับที่จะขยายตัวได้อีกมาก

"ในปีที่แล้วธุรกิจที่ขอจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป,อสังหาริมทรัพย์,ร้านขายปลีกเครื่องประดับ,ให้คำปรึกษาด้านการจัดการและภัตตาคาร/ร้านอาหาร"

ปราบนอมินีต่อเนื่อง
ส่วนของการปราบปรามการถือครองทรัพย์สินโดยใช้ตัวแทน(นอมินี)ของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยที่กรมได้ติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมากรมได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีจังหวัดเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว 10 จังหวัด ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เชียงราย เชียงใหม่ กระบี่ ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพ ใน 10 ธุรกิจ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 474 ราย พบพฤติกรรมที่น่าเข้าข่ายเป็นนอมินี 15 ราย แบ่งเป็น ภูเก็ต 2 ราย เชียงใหม่ 1 ราย กระบี่ 2 ราย ชลบุรี 6 ราย ตราด 3 ราย กรุงเทพ 1 ราย ส่วนในปีนี้กรมยังคงเฝ้าติดตามจังหวัดดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 ขนระบบE มาให้บริการ
"บรรจงจิตต์" กล่าวอีกว่า ในปีนี้กรมได้นำระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Registration มาให้บริการซึ่งเป็นนวัตกรรมการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์อย่างครบวงจร "สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากระบบนี้คือความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งสามารถยื่นจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ง่าย ทั้งหมดที่กล่าวมาคือเรื่องหลักที่กรมจะดำเนินการในปีนี้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560