ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย ( 4)

16 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
เรายังคงอยู่ที่เมืองเมาะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ วันนี้ตื่นนอนขึ้นมาก็พบว่าสายฝนยังคงโปรยปรายอยู่ หลังจากรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จเรียบร้อย เราก็รีบเช็กเอาต์จากโรงแรมนั่งรถเข้าไปในเมืองท่ามกลางสายฝนโปรยปรายเพื่อไปพบบุคคลสำคัญคือ Mr. U HlaShein ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญ (Mon State Chamber of Commerce and Industry: Mon State C.C.I.) ที่เรานัดไว้ที่บ้าน เรียกว่าถือโอกาสบุกบ้านกันเลย

บ้านพักของประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญเป็นอาคารพาณิชย์สองชั้น หรือเรียกง่ายๆก็คือ ตึกแถวแบบบ้านเรานั่นเอง แสดงให้เห็นถึงความสมถะของคนที่นั่น ทั้งๆที่ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคนระดับประธานหอการค้าฯ ที่นี่ต้องถือว่าไม่ธรรมดา U HlaSheinหน้าตาใจดีและอัธยาศรัยดีมาก เราได้รับการต้อนรับด้วยน้ำชาจีนร้อนๆตามสไตล์คนจีน ดูแล้วท่านน่าจะมีเชื้อสายจีนแน่นอน เราได้พูดคุยกันแบบสบายๆไม่มีพิธีรีตอง หลังจากคุยกันไปได้สักพักท่านประธานหอการค้าฯ ก็เอ่ยปากชวนว่าก่อนที่จะเข้าไปประชุมร่วมกับสมาชิกหอการค้าและอุตสาหกรรมในช่วงบ่ายที่เรานัดหมายไว้ ยังพอมีเวลาเลยอยากเชิญพวกเราไปร่วมกิจกรรมทางสังคมกับท่าน เราก็ตอบรับด้วยความยินดี

กิจกรรมแรกที่ท่านประธานหอการค้าฯ พาพวกเราไปคือ การเข้าร่วมในพิธีเปิดสวนสาธารณะและอนุสาวรีย์นายพลอองซานท่ามกลางสายฝนโปรยปรายอยู่ตลอดเวลา ทีแรกก็ยังงงๆว่า สวนสาธารณะก็ไม่เห็นมีอะไรใหม่ แถมอนุสาวรีย์นายพลอองซานก็น่าจะเป็นอันเดิมแต่ทาสีใหม่ แต่ในที่สุดเราก็ได้รับความรู้ว่าสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นสวนสาธารณะหลักคู่บ้านคู่เมืองของเมืองเมาะละแหม่งอยู่แล้ว แต่ในอดีตที่ผ่านมา เมืองเมาะละแหม่งภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกทอดทิ้งให้ร้าง แถมอนุสาวรีย์นายพลอองซานก็ทรุดโทรมไม่มีผู้ใดสนใจ ที่สำคัญคือ มีผู้มีอำนาจนิสัยไม่ดีบางคนตัดพื้นที่บางส่วนของสวนสาธารณะแห่งนี้ไปขายให้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำไปสร้างเป็นศูนย์การค้าทันสมัย ทำให้คนมอญในเมืองเมาะละแหม่งไม่พอใจ จนกระทั่งมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มนักธุรกิจที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็เลยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการบูรณะสวนสาธารณะและอนุสาวรีย์นายพลอองซานขึ้นมาใหม่ ทำให้สวนสาธารณะแห่งนี้ถูกเปิดอีกครั้งหลังจากถูกปิดตายมานาน โดยมีหอการค้าและอุตสาหกรรมฯ เป็นแม่งานหลัก ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรักษาสวนสาธารณะแห่งนี้ไว้ให้เป็นสมบัติของสาธารณชน ไม่ให้ผู้ใดมาฉกฉวยพื้นที่ไปหาประโยชน์ส่วนตนได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าประทับใจมากที่ได้เห็นความเสียสละของภาคเอกชนที่คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณชนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

หลังจากนั้น U HlaSheinได้พาพวกเราไปเยี่ยมสถานดูแลผู้สูงอายุที่เขาเป็นผู้อุปถัมภ์หลัก และพาพวกเราไปกราบเจ้าอาวาสที่วัดสำคัญในเมืองเมาะละแหม่งที่เขานับถือมากเพราะเป็นพระที่มีความเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกเป็นอย่างสูง ถือเป็นบุญสำหรับพวกเราที่ได้มีโอกาสมากราบท่าน ซึ่งในช่วงที่เข้าไปกราบเจ้าอาวาสเป็นช่วงที่ท่านกำลังฉันเพลอยู่พอดี วันนั้นพวกเราพร้อมกับ U HlaSheinก็เลยถือโอกาสเป็นลูกศิษย์วัดรับประทานอาหารกลางวันที่วัดดังกล่าวนี้เสียเลยหนึ่งมื้อสบายไป

อิ่มเอมจากอาหารกลางวันที่วัดแล้ว U HlaSheinก็นำพวกเราไปที่สำนักงานหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญ เพื่อประชุมหารือกับสมาชิกถึงโอกาสการค้าการลงทุนในรัฐมอญ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

[caption id="attachment_140436" align="aligncenter" width="503"] ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย ( 4) ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย ( 4)[/caption]

เมืองเมาะละแหม่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมา รองจากกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ และเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญ มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศไทยโดยใช้เส้นทางนครแม่สอด–เมืองกอกะเร็ก-เมืองเมาะละแหม่งมีบางส่วนที่ใช้เส้นทางทะเลจากระนอง–เกาะสอง-เมืองเมาะละแหม่ง

นักธุรกิจส่วนมากดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ และโลจิสติกส์ เป็นต้น ที่ผ่านมาสินค้าที่ถูกขนส่งไปยังด่านทามู จะถูกนำไปพักไว้ที่โกดังสินค้าในเมืองมัณฑะเลย์ก่อน สำหรับอุตสาหกรรมที่หอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญต้องการให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนคืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เนื่องจากเมืองเมาะละแหม่งมีพื้นที่ปลูกยางพาราถึง 10 อำเภอ จำนวนหลายพันไร่ จึงทำให้มีผลผลิตน้ำยาง และไม้ยางพาราเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตน้ำยางพาราของเมืองเมาะละแหม่งยังมีคุณภาพต่ำ (เกรด 5) เนื่องจากเกษตรกรยังใช้ต้นยางสายพันธุ์เก่า โดยน้ำยางพาราส่วนใหญ่จะถูกนำไปผลิตเป็นรองเท้า ยางรถมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น จึงอยากเชิญชวนนักลงทุนไทยให้มาร่วมลงทุนกับนักธุรกิจเมืองเมาะละแหม่ง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราต่อไป

นอกจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราแล้ว ปัจจุบันเมืองเมาะแหม่งยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น โอกาสของสินค้าวัสดุก่อสร้างจากไทยในเมืองเมาะละแหม่งยังมีอีกมากและในโอกาสเดียวกันนี้หอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญยังได้เชิญชวนนักลงทุนไทยให้เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเนื่องจากมีพื้นที่ว่างเปล่าจำนวนมากประกอบกับมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชม. และมีค่าจ้างแรงงานราคาถูก

การพบปะกับสมาชิกหอการค้าและอุตสาหกรรมรัฐมอญทำให้ทราบว่าคนมอญสนใจสินค้าไทยและนักลงทุนจากประเทศไทยมาก อยากให้คนไทยเข้าไปลงทุนเยอะๆ เท่าที่ทราบขณะนี้ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยบางบริษัทเข้าไปลงทุนแล้ว เสียดายว่าไม่มีเวลาได้พบกันเพราะเราต้องรีบเดินทางต่อบนเส้นทางนี้...หนทางยังอีกไกลครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,252 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2560