ภาษี 5 ปี 8 แสนล้าน สรรพสามิตปักธง ภาษีใหม่ดันจัดเก็บเพิ่มปีละ10%

11 เม.ย. 2560 | 11:00 น.
สรรพสามิต ตั้งเป้า 5 ปี จัดเก็บรายได้แตะ 8 แสนล้านบาท หลังภาษีใหม่มีผลบังคับใช้ 16 กันยายน ฐานกว้างขึ้นหนุนจัดเก็บเพิ่มขั้นตํ่าปีละ 10% ยันจัดเก็บแบบขายปลีกแนะนำปิดช่องเกรย์มาร์เก็ต-สินค้านำเข้าแสดงราคาตํ่าจริง

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตตามปีงบประมาณ 2560จำนวน 5.5 แสนล้านบาท จะมีสัดส่วนมาจากการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 20% สินค้าในกลุ่มภาษีบาป 30% และรายได้ที่มาจากสินค้าที่ทำลายหรือมีผลต่อสิ่งแวดล้อม มีสัดส่วนประมาณ 30-40%

ตามแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้กำหนดโดยตั้งบนแผนระยะ 5 ปี ที่คาดว่าในปี 2564 การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตจะอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันที่กำหนดเป้าหมายการจัดเก็บอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท และมีความเป็นไปได้สูงที่รายได้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ต่อปีต่อเนื่อง จึงได้นำเสนอทิศทางตามแผนการจัดเก็บรายได้ต่อนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากแผน 5 ปี กรมสรรพสามิตยังมีแผนบริหารและจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในแผนระยะ 20 ปีที่จะต้องทำให้ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2580 ที่จะเห็นภาพชัดเจนหลังจากที่กรมสรรพสามิตได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นไปจะทำให้กรมสรรพสามิตสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บได้แม้รัฐบาลจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีก็ตาม

“การเปลี่ยนวิธีคิดจากราคาหน้าโรงงาน หรือราคา CIF มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำจะทำให้โครงสร้างการคิดภาษีแบบใหม่เกิดความเป็นธรรมขึ้นในธุรกิจที่มีลักษระเดียวกันแต่กลับจัดเก็บภาษีบนฐานที่ต่างกัน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีแบบใหม่ จึงเป็นการพลิกโฉมธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะธุรกิจที่เสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงธุรกิจนำเข้ารถยนต์อิสระ หรือ เกรย์ มาร์เก็ต ที่จะไม่สามารถสำแดงราคาต่ำได้ ช่องว่างในเรื่องภาษีจึงจะหายไปเนื่องจากมีการคิดบนฐานราคาขายปลีกแนะนำนั่นเอง

ส่วนการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าหรือบริการ จะยึดหลักการพิจารณาอิงจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นปีละ 2% ดังนั้นในระยะ 20 ปี กรมสรรพสามิตคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นสะสมไม่ต่ำกว่า 100-150%

พร้อมกันนี้ได้วางกรอบให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารงานต่อสามารถพิจารณาปรับขึ้นหรือลดได้ตามความเหมาะสมบนพื้นฐานของการคิดภาษีบนฐานราคาขายปลีกแนะนำเท่านั้นและจะต้องพิจารณาจากการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจ การขยายตัวของเงินเฟ้อ การเติบโตของจีดีพีและรายได้ประชาชาติ

แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามกรอบระยะเวลาที่ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตมีผลบังคับใช้คือในวันที่ 16กันยายน 2560แต่คาดว่าการประกาศพิกัดอัตราภาษีรายสินค้า จะมีขึ้นหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 19 กันยายนให้การอนุมัติ

“นโยบายกรมสรรพสามิตจะต้องมีการปรับขึ้นภาษีอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้คนเคยชินกับการบริโภคสินค้าในกลุ่มสุรา-ยาสูบในอัตราภาษีเดิมนานๆ ส่วนหนึ่งเพื่อทำให้การบริโภคสินค้าในกลุ่มเหล่านี้ไม่ขยายตัวสูง หากแต่การปรับขึ้นอัตราภาษีกรมฯ ก็ไม่ได้ปรับขึ้นอย่างรุนแรงจนทำให้ผู้บริโภคต้องหันไปซื้อหรือบริโภคสินค้าที่ผิดกฎหมาย สินค้าปลอมหรือสินค้าหนีภาษี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251 วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560