ผ่าพันธกิจ‘อาทิตย์’ โรเตชันSCBขึ้น‘จ่าฝูง’

11 เม.ย. 2560 | 14:00 น.
การปรับโครงสร้างองค์กรและปรับทัพของธนาคารไทยพาณิชย์มีให้เห็นต่อเนื่อง หลังจากปลายปีก่อนแม่ทัพใหญ่ อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดินสายพูดคุยกับผู้บริหารสร้างความเข้าใจในธีม 100 วันกับ CEO เพื่อเปลี่ยนแนวคิดการทำงานใหม่ หลังจากบอร์ดเห็นชอบให้ CEO เดินหน้าได้

ล่าสุดไทยพาณิชย์ ประกาศเขย่าหน้าที่การทำงานให้กับ 7 ผู้บริหารให้สลับปรับเปลี่ยนสายงานใหม่ ถือเป็นการเดินตามยุทธศาสตร์ SCB Transformation สู่การเป็น The Most Admired Bank

การปรับทัพครั้งนี้อาทิตย์กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงที่มาและที่ไป และสาเหตุการปรับเพื่อก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายที่ปักธงไว้ คือ การเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่ได้หวังผลในระยะสั้น ที่มีผลกำไรแบบปีต่อปี แต่เป็นการเติบโตยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อ “ความอยู่รอด” เพราะถ้าหากธนาคารสามารถอยู่รอดได้ ได้ในยุคที่กระแสธุรกิจปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราก็สามารถเป็น “จ่าฝูง” ได้

“องค์กรที่มีขนาดใหญ่ จะต้องทำตัวให้เล็ก ให้คล่องตัวในการทำงานและปรับตัว และยิ่งใหญ่ยิ่งมีกฎระเบียบเยอะ จะต้องทำตัวให้ยืดหยุ่น”

[caption id="attachment_139963" align="aligncenter" width="368"] อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร[/caption]

“อยู่รอด” เพื่อก้าวสู่ “จ่าฝูง”
อาทิตย์ บอกว่า โลกหมุนเร็ว การทำให้องค์กรอยู่ได้ และเติบโตได้ โดยสังคมและลูกค้าต้องเลือกที่จะมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นพันธมิตร (Partner) ธนาคารจะทำธุรกิจอะไรได้บ้างในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด เป้าหมายธนาคารจะต้องทำตัวเป็น Financial Partner

มาตรวัดสำคัญ คือ ธนาคารที่มีฐานลูกค้าในทุกเซ็กเมนท์ เป็นธนาคารที่ลูกค้าเลือกใช้และพึ่งพอใจที่จะใช้ธนาคารเป็นธนาคารหลักแต่การเป็นธนาคารหลักหรือลูกค้าเลือกใช้นั้นไม่ได้หมายความว่าให้พนักงานแบงก์ออกไปขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสร้างยอด และไม่ใช้การเติบโตแบบรวดเร็ว กำไรเยอะๆ โตแบบก้าวกระโดด แต่ 2-3 ปีให้หลัง กลับหัวทิ่ม

แน่นอนธนาคารยังคงต้องทำสินเชื่อหากลูกค้าต้องสินเชื่อ ซึ่งธนาคารยังคงต้องแข่งขันเรื่องความรวดเร็วการอนุมัติ หรือการช่วยทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำธุรกิจที่รวดเร็วขึ้น ธนาคารจึงต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารระบบบัญชีและต้นทุนให้ลูกค้า เพราะโลกเปลี่ยนจากการซื้อเป็นการเช่า ประกอบกับในหลายธุรกิจเริ่มมีคนทำเยอะขึ้นเรื่อยๆ และบริการที่ลูกค้าได้รับไม่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์เสมอไป

ดังนั้นในโลกอนาคต แบงกิ้งยังคงอยู่ แต่แบงก์ที่ให้บริการแบงกิ้งอาจจะไม่อยู่หรืออยู่ไม่ได้ หากไม่มีการปรับตัว เราจึงต้องทำให้แบงก์ต้องทำอย่างอื่นด้วยนอกจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการเป็น Financial Partner เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องปรับ และเปลี่ยนตลอดเวลา “หากเราอยู่รอด เราจะเป็นจ่าฝูง”

ส่วนรูปแบบของ Financial Partner ไม่มีรูปแบบปิดกั้นตายตัว อาจจะไปในรูปแบบการซื้อเลย การเป็นพันธมิตรกับคนอื่น หรือจะทำเอง แต่ในท้ายที่สุดทุกรูแปบบทำเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับธนาคาร

“ธนาคารไม่ต้องการเติบโตแบบรวดเร็วและหัวทิ่ม แต่เราต้องการเติบโตแบบยั่งยืน แข็งแรง และแข็งแกร่ง แต่การจะไปถึงจุดนั้น และลูกค้าสัมผัสได้ ธนาคารจะต้องเปลี่ยนจากข้างในก่อน ซึ่งการเดินทาง ยังคงมีไปอีกนาน และการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา หากเราอยู่รอด เราจะเป็นจ่าฝูงได้ แต่ปัจจุบันเรายังผสมปนเปกันไป ทั้งเพื่อความอยู่รอดและการยกตัวเองเป็นจ่าฝูง”

  เขย่า 7 ผู้บริหารหามุมมองทำงานใหม่
การประกาศสลับหน้าที่การทำงานให้กับ 7 ผู้บริหารนั้น ไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว แต่เป็นโปรแกรมที่ได้เริ่มคุยกันมาแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งผู้บริหารชุดแรก 20 คน ได้รับทราบและเตรียมความพร้อมกับการปรับเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วไม่ได้มีการโยกย้าย หรือใช้คำว่า “เด้งฟ้าผ่า”

แต่การปรับเปลี่ยนการทำงานครั้งนี้ เป็นการให้ผู้บริหารทั้ง 7 ท่านที่มีมุมมองในธนาคารในจุดต่างๆ มาทำเรื่องใหม่ๆ จากเดิมแนวทางการบริหาร จะเน้นคนที่เก่งในจุดไหนก็ทำอยู่ตรงจุดนั้น แต่หลังจากนี้ทุกคนสามารถสลับหมุนเวียนไปในหน้าที่ต่างๆ กันได้ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ และได้พัฒนาทักษะในเรื่องของบุคลากรด้วย

อาทิตย์ ยืนยันว่า การทำแบบนี้ใม่ใช่เป็นเรื่อง “การลองผิดลองถูก” แต่เป็นการหลอมรวมองค์กรเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น ถูกผิดไม่สำคัญ เพราะทำแล้วไม่ได้ทำให้ธนาคารดีในระยะสั้นแต่เป็นผลประโยชน์กับธนาคารในระยะยาว และผู้บริหารที่ถูกหมุนเวียนจะเกิดการพัฒนา

อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่ทำงาน ธนาคารไม่ได้มีการวัดประสิทธิผลชัดเจน เพราะผู้บริหารที่หมุนเวียนเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อม แต่พนักงานคนอื่นเป็นลงมือทำ ถือเป็นการทำ “Rotation” โดยเริ่มจาก 7 ผู้บริหาร ใน 20 คนแรก และหลังจากนั้น จะเริ่มลงสู่ผู้บริหาร-พนักงานระดับกลาง-ล่างลงไป ในการปรับเปลี่ยนหมุนเวียน เริ่มต้นจากใครเก่งด้านใดก็เริ่มให้ทำด้านนั้นก่อนและเมื่อถูกเลื่อนขั้นมาสู่ระดับกลาง จะเริ่มหมุนเวียนการทำงานในหลากหลายหน้าที่มากขึ้น

การทำงานไม่ได้เป็นการทำเพื่อ “แผนก” เท่านั้น แต่เป็นการทำงานเพื่อ “องค์กร” และหลังมิติ “Rotation” ผู้บริหารจะได้ประโยชน์ องค์กรได้ประโยชน์ เพราะทุกคนร่วมกันทำงานให้ธนาคารไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251 วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560