ม.44พ่นพิษตลาดทุน บจ.หวั่นเรียกประชุมง่ายปั่นป่วน คู่กรณีIFECเห็นพ้อง

12 เม.ย. 2560 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“บิ๊กตู่” ใช้ม.44 จัดระเบียบบริษัท ปรับปรุงกฎหมายมหาชน และก.ม.แพ่งและพาณิชย์ ให้อำนาจผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ตรวจสอบบอร์ดและฐานะบริษัท ให้อำนาจศาลสั่งปิดกิจการที่ผู้ถือหุ้นตีกัน

คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้ม.44 แก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อาทิ เพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237(5) เพิ่มเหตุเลิกบริษัท กรณีบริษัทเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ถือหุ้นตีกัน เป็นต้น จากกฎหมายเดิม ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วย 4 เหตุเท่านั้น

นอกจากนั้น มีการแก้ไข พรบ.บริษัทมหาชน มาตรา 100 กรณีผู้ถือหุ้นรวมหุ้นไม่น้อยกว่า 10% เข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้คณะกรรมการ(บอร์ด)เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องระบุเรื่องและเหตุผลไว้ให้ชัดเจน และบอร์ดต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 45 วัน หากไม่จัดให้มีการประชุม ผู้ถือหุ้นจะเรียกประชุมเองก็ได้ ภายใน 45 วัน ขณะที่กฎหมายเดิมกำหนดให้น้อยกว่า 1 ใน 5 ( 20%) หรือ ไม่น้อยกว่า 25 คน รวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่าย ให้เวลาบอร์ดในการจัดประชุมถึง 45 วัน

ขณะเดียวกันมีการแก้ไขมาตรา 128 ผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 50% จะเข้าชื่อทำหนังสือให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของบริษัท รวมถึงการดำเนินงานของคณะกรรมการด้วยก็ได้ ขณะที่กฎหมายเดิม ผู้ถือห้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 คิดเป็นจำนวน 20% หรือผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามขอตรวจสอบบริษัทและคณะกรรมการได้

นายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน ให้ความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความโปร่งใส ของ ข้อมลู ต่างๆ ในอดีตตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.ทีปรากฏอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยสถิตินั้น ประมาณ 50% ไม่ประสบความสำเร็จ ในการฟ้องร้องในชั้นศาล มีเพียง 5% เท่านั้นที่จะมีบทลงโทษ ดังนั้นเมื่อกฎหมายฉบับเดิมยังมีช่องโหว่อยู่ ดังนั้นจุดที่สำคัญคือ การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นนั้นต้องมีกระบวนการต่างๆ ที่สำคัญ คือข้อมูลที่ได้รับทราบในระหว่างผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียจะต้องได้ทัดเทียมกัน

ส่วนกรณีที่เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้น 10% สามารถเรียกประชุมได้ ส่วนตัวมองว่าน่าเป็นห่วงเพราะจะเกิดประเด็นเรื่องของความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะขัดแย้งกันในเชิงนโยบายขัดแย้งในเชิงของผลประโยชน์คิดว่าจำนวนการเรียกหุ้น มีความจำเป็นจะต้องศึกษาก่อนว่า หุ้นส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ซึ่งมีกฎกติกาอยู่แล้ว จะต้องยึดในกติกานั้น การจะใช้หุ้นส่วนน้อยแล้วเรียกประชุมกัน จะทำให้ตลาดสับสนเป็นอย่างยิ่ง และหากเกิดความขัดแย้งและไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้ราคาหุ้นและผู้ถือหุ้นมีปัญหาตามมาได้

“ถ้าเราไม่มีกระบวนการ ผ่านการคัดกรองและการเรียกการประชุมต่างๆ เชื่อว่าบริษัทมหาชนทำงานไม่ได้ เพราะทุกอย่างจะมีข้อขัดแย้ง ถ้าผมต้องการมีสิทธิในการเข้าเจรจาผมก็ซื้อหุ้น 10% ผมก็สามารถบล็อกได้เลย จึงต้องมีกระบวนการในการกลั่นกรองให้ชัดเจนซึ่งในอดีตใช้คะแนนเสียงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น 50 หรือ 70%เพียงแต่ว่าถ้า 10% แล้วมาเปลี่ยนโยบายต่างๆได้ ผมเชื่อว่าคงทำงานไม่ได้หรอกครับ” นายสุรงค์กล่าว

นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC) ให้ความเห็น ในเรื่องของการแก้กฎหมายโดยลดจำนวนผู้ถือหุ้นในการเรียกร้องบอร์ดให้จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จะทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่อาจจะทำให้เกิดความโกลาหลพอสมควร แต่ก็มีการให้ระยะเวลาบอร์ดและการตรวจสอบมากขึ้น กว่าจะจัดการประชุมขึ้นมากจากเดิมกำหนดเพียง1 เดือนก็ขยายเป็น 45 วัน

ส่วนกรณีผู้ถือหุ้นตีกันแล้วศาลอาจจะสั่งให้เลิกบริษัทนั้น นายวิชัยกล่าวว่า จะต้องแยกแยะประเด็น เรื่องผู้ถือหุ้นตีกันว่าเกิดจากเหตุผลใด เช่น เกิดการทำผิดกฎหมาย เกิดการฉ้อฉล หรือฉ้อโกงภายในบริษัท ไม่ใช่ทะเลาะกัน

นายทวิช เตชะนาวากุล ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ ของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้กฎหมาย เพื่อให้รัฐมีเครื่องมือดำเนินการกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทบางแห่งปฏิบัติตัวเหนือกฎหมาย

อย่างไรก็ตามเมื่อแก้กฎหมายแล้ว เห็นว่าต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่จะรับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมาย และมีความรวดเร็วในการปฏิบัติ หากล่าช้าความเสียหายจะเกิดกับบริษัทและผู้ถือหุ้น นายทวิช กล่าวอีกว่า ในวันที่ 7 เมษายน 2560 ได้ทำหนังสือถึงนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC พร้อมนำส่งสำเนาถึง ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อเรียกร้องให้ประธาน IFEC ทำการประชุมให้ถูกกฎหมาย และเสนอวาระที่สำคัญที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พึงปฏิบัติ โดยประเด็นสำคัญคือวาระการรับรองงบการเงินประจำปี 2559 และการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251 วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560