พาณิชย์แนะผู้ส่งออกไทยตรวจสอบคุณสมบัติผู้นำเข้าในสหรัฐฯ

08 เม.ย. 2560 | 01:30 น.
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามการประกาศคำสั่งพิเศษ (Executive Order) ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศว่า ภายในเวลา 90 วัน สหรัฐฯ จะกำหนดให้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ

1.หน่วยงาน U.S. Customs and Border Protection (CBP) ไม่เคยมีข้อมูลการนำเข้าจากผู้นำเข้ามาก่อน (เป็นผู้นำเข้ารายใหม่)  2.CBP มีข้อมูลว่าผู้นำเข้าดังกล่าวเคยหลีกเลี่ยงไม่จ่ายอากร AD หรือ CVD  3.CBP มีข้อมูลว่าผู้นำเข้าดังกล่าวไม่จ่ายอากร AD หรือ CVD ภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องวางเงินประกัน (bond) ในการนำเข้าสินค้าที่สหรัฐฯ เก็บ AD/CVD เข้ามา แต่ในขณะนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เช่น เก็บอัตราเท่าใด เก็บอย่างไร เป็นต้น คาดว่าจะต้องมีการออกประกาศให้รายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เบื้องต้น พบว่า สหรัฐฯ มีมาตรการ AD/CVD กับประเทศต่าง ๆ หลายสินค้า โดยแยกเป็น AD 325 กรณี และ CVD 121 กรณี โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะและชิ้นส่วน ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอ แร่ธาตุ และอาหารที่มีมูลค่าสูงและมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในหลายรายการ ซึ่งประกาศของสหรัฐฯ จะกระทบกับผู้นำเข้าสินค้าบางประเภทจากไทย คือ

1.สินค้าที่สหรัฐฯ เคยใช้AD/CVD กับไทย อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อสเตนเลส ข้อต่อท่อเหล็ก  ท่อเหล็ก ลวดแรงดึงสูง ถุงพลาสติกหิ้ว และกุ้งแช่แข็ง และ 2.สินค้าที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการAD/CVD กับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน ที่ไทยมีการส่งออกด้วย อาทิ ยางรถยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อมิให้การส่งออกสินค้าไทยประเภทที่กล่าวถึงข้างต้น ต้องได้รับผลกระทบโดยไม่จำเป็น กระทรวงพาณิชย์จึงอยากขอให้ผู้ส่งออกไทยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าของตนอย่างระมัดระวังว่า ไม่เคยเป็นผู้ที่ไม่จ่ายเงินค่าอากร AD/CVD ให้สหรัฐฯ หรือเป็นผู้นำเข้ารายใหม่เลย เพื่อมิให้ผู้นำเข้าถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่ม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะมาเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นด้วย นอกจากนี้ การวางเงินประกันอาจกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการส่งออกของไทย หรือการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะหากการคืนเงินใช้เวลานาน หรือเกิดกรณีพิพาทกัน

สำหรับประกาศฉบับที่ใช้เรื่อง AD/CVD ของสหรัฐฯนี้ ไม่ได้กล่าวถึงการประเมินเพื่อระบุประเทศเหมือนประกาศอีกฉบับเกี่ยวกับการขาดดุล (trade deficits) แต่จะใช้กับสินค้าจากทุกประเทศที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD เมื่อสหรัฐฯ ได้จัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนออกมาใน 90 วัน

ทั้งนี้ AD หรือ anti-dumping คือ การเก็บอากรเพื่อชดเชยการทุ่มตลาด (ขายของต่ำกว่าราคาทุน) และ CVD หรือ countervailing duties คือ อากรที่เก็บจากการที่ประเทศคู่ค้ามีการอุดหนุนในสินค้านั้นๆ โดยเป็นการอุดหนุนที่ไม่สามารถทำได้ภายใต้ WTO

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวตอนท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์มิได้นิ่งนอนใจเรื่องมาตรการสหรัฐฯ โดยได้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา มีการหารือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง และจะให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อสาธารณะเป็นระยะ ๆ ต่อไป