สั่งเร่งไฮสปีดเทรน เปิดทางเอกชนร่วมก่อสร้าง-เดินรถ

11 เม.ย. 2560 | 01:00 น.
“อาคม” สั่งร.ฟ.ท. เปิดทางเอกชนแข่งประมูล 2ไฮสปีดเทรนเชื่อมตะวันออกและสายใต้ เผยรูปแบบร่วมลงทุนเช่นรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลืองมุ่งประเคนเอกชนแบบเหมาเข่งทั้งลงทุนก่อสร้าง จัดหารถและบริหารจัดการเดินรถ 30 ปี ล่าสุดมีลุ้นสคร. เสนอคณะกรรมการพีพีพีเคาะประมูลเม.ย.-พ.ค. นี้ด้านบีทีเอสยังลุ้นเงื่อนไขร่วมลงทุนและขอดูแผนธุรกิจให้ชัดเจนก่อน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าตามที่ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหินก่อนเสนอเรื่องให้คณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) พิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติดำเนินการนั้นคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาใน 1-2 เดือนนี้หลังจากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ในฐานะเจ้าของโครงการจะต้องรับเรื่องไปดำเนินการเปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุนโดยเร็วต่อไป คาดว่าหากครม.อนุมัติภายในเดือนนี้ก็จะสามารถเปิดประมูลในช่วงกลางปีนี้ได้ทันที

โดยการนำเสนอประมูลในครั้งนี้ยังคงยึดรูปแบบการร่วมลงทุนเช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธา จัดหารถและบริหารจัดการเดินรถ ระยะเวลา 30 ปีส่วนภาครัฐลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยโครงการความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางภาคเอกชนสนใจการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังนั้นจึงเปิดทางให้เอกชนสามารถปรับจุดสถานีให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่ายังรอดูรายละเอียดที่ภาครัฐจะประกาศออกมาว่าจะมีความชัดเจนมากน้อยอย่างไร รัฐจะช่วยเหลืออย่างไรบ้างเนื่องจากโครงการไฮสปีดเทรนทั้ง 2 เส้นทางลงทุนสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง หลักแสนล้านบาท จำนวนผู้โดยสารมากน้อยแค่ไหนยังไม่อาจทราบได้ในขณะนี้

“รัฐช่วยเฉพาะค่าเวนคืนเท่านั้นคงจะไม่เพียงพอแน่ๆ เนื่องจากสายสีชมพูและสายสีเหลืองรัฐยังต้องเข้ามาช่วยในค่างานโยธาส่วนหนึ่งด้วย ประกอบกับไฮสปีดเทรนนั้นต้นทุนการเดินรถสูงมาก เช่นเดียวกับค่าบำรุงรักษา หากรายละเอียดน่าสนใจมีความคุ้มค่าด้านการลงทุนโดยเฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเชิงพาณิชย์พื้นที่รายรอบโครงการบีทีเอสจะเข้าร่วมแข่งประมูลด้วยอย่างแน่นอนแต่การพัฒนาที่ดินคงไม่ได้เป็นตัวหลักของการพัฒนาไฮสปีดเทรนทั้ง 2 โครงการแต่ขอดูแผนธุรกิจและเงื่อนไข ที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือให้ชัดเจนก่อน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560