กระทรวงพลังงาน เล็งยุติปัญหาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

07 เม.ย. 2560 | 08:55 น.
กระทรวงพลังงานเร่งแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เดินหน้าหรือถอดออกภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่แผนประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช เตรียมจัดโฟกัสกรุ๊ปรอบสองพิจารณาระบบเอสซีในวันที่ 20 เมษายนนี้ เผยมีผู้ประกอบการปิโตรเลียมสนใจร่วมประมูลนับ 10 ราย

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ส่งข้อมูลโครงการให้ภาครัฐแล้ว ซึ่งยังรอการตัดสินใจจากทางภาครัฐว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)หรือไม่ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามหากสามารถเดินหน้าได้ตามแผนของ กฟผ. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะแล้วเสร็จภายในปี 2563

สำหรับข้อเสนอการรับซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกรณีไม่สามารถเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้ อาจเป็นการพึ่งพาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศมากเกินไป จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงาน จึงต้องมีการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศไม่ให้มากเกินไป

ขณะที่ความคืบหน้าการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ซึ่งจะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 ซึ่งทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจ้งว่ามีผู้ประกอบการปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศสนใจร่วมประมูลกว่า 10 ราย อาทิ ผู้ประกอบการจากจีนและตะวันออกกลาง รวมทั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมสนใจเข้าร่วมประมูลด้วย
โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมจัดประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัส กรุ๊ป) รอบที่สองอีกครั้ง ในวันที่ 20 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาระบบจ้างบริการ(เอสซี) หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับฟังระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังจัดโฟกัสกรุ๊ปเสร็จแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการปิโตรเลียมรวมรวมผล เพื่อเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณารูปแบบระบบแหล่งปิโตรเลียมในแต่ละพื้นที่ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

“จากการโฟกัสกรุ๊ปในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการปิโตรเลียมมากว่า 10 รายสนใจทั้งรายเด่าและรายใหม่ ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ แต่ถ้าเร่งรัดแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายก็ต้องเลื่อนไปบ้าง แต่ก็ได้คุยกับผู้ประกอบการแล้ว”พล.อ.อนันตพร กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(NOC) ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ส่งเรื่องให้ครม. พิจารณาอนุมัติว่าจะให้หน่วยงานใดศึกษา NOC อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม วาระแรก กระทรวงพลังงานได้เสนอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ศึกษา NOC ซึ่งขณะนี้กำลังรอผลการศึกษา และหากพบว่าผลการศึกษาใช้ได้เกิดการยอมรับของทุกฝากก็จะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป แต่ถ้าใช้ไม่ได้ หรือเห็นว่าการศึกษาควรต้องมีหน่วยงานอื่นมาร่วมด้วย เช่น สภาพัฒน์ หรือ ภาคประชาชน ก็ต้องทำการศึกษาใหม่โดยนำผลการศึกษาของกระทรวงการคลังมาประกอบการพิจารณา

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมฯได้จัดโฟกัสกรุ๊ปรอบแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดรูปแบบสัมปทานในแต่ละพื้นที่ว่าควรใช้ระบบใด ทั้งระบบสัมปทาน พีเอสซี และเอสซี ซึ่งจะนำข้อเสนอแนะที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมในวันที่ 10 เมษายนนี้ ก่อนจะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องเสร็จก่อนเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ และบงกช ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลครอบคลุมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยทุกรอบ รวมถึงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุทั้งเอราวัณและบงกช ที่รัฐเตรียมเปิดประมูลในปีนี้ด้วย